The Active รับรางวัลเกียรติยศ ส่งเสริมงานสุขภาพจิตไทย

สธ. ย้ำบริการดูแลใจ หนุนสังคมไร้รุนแรง พบ ประชากรทั่วโลก 1 ใน 8 มีปัญหาด้านสุขภาพจิต สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นหลังยุคโควิด ขณะที่ ปี 67 ไทยมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากปัญหาสุขภาพจิต -ยาเสพติด เฉลี่ยวันละ 42 คน โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว

วันนี้ (1 ก.ค. 68) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 24 ประจำปี 2568  เรื่อง “สุขภาพจิตดี สังคมอ่อนโยน…ไร้ความรุนแรง” (Mental Health for Gentle Society)

สมศักดิ์ กล่าวว่า คนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งภาวะซึมเศร้า ความเครียดสูง เสี่ยงฆ่าตัวตาย รวมถึงมีผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงจำนวนมาก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 970 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 8 มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหา จึงได้ผลักดันให้สุขภาพจิตที่ดีเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ และกระทรวงสาธารณสุขยังได้กำหนดให้การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติดเป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้น เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไร้ความรุนแรง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น โดยปี 2567 พบผู้ถูกกระทำความรุนแรง เฉลี่ยวันละ 42 คน โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่มีจำนวนผู้ถูกกระทำมากถึง 4,833 คน สาเหตุหลักมาจากยาเสพติดและปัญหาสุขภาพจิต

ทั้งนี้ภายในงานยังได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคคล และเครือข่ายที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานสุขภาพจิต ซึ่ง The Active ได้รับรางวัลเกียรติยศศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร (ด้านสังคม) ประเภทองค์กร ประจำปี 2568 เพื่อยกย่อง ผู้ที่มีส่วนในการทุ่มเทขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในประเทศไทย

สำหรับ The Active จากศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส มีภารกิจสื่อสารและร่วมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม ผ่านการผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารใหม่ ๆ ด้วยเนื้อหาข่าว สารคดี ระบบฐานข้อมูล และ Policy Forum ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ เผยแพร่ในทุกแพลตฟอร์มของ The Active และ Policy Watch เพื่อนำไปสู่ทางออกของสังคม  

ขณะที่ผลงานสำคัญที่ The Active ติดตามและร่วมขับเคลื่อนในประเด็นด้านสุขภาพจิต อาทิ

  • การเกาะติดข่าวและความเคลื่อนไหวด้านสุขภาวะทางจิต ผ่านรายการตรงประเด็น ทางช่อง ไทยพีบีเอส รวมถึงเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ The Active เช่น การติดตามความเคลื่อนไหว ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิตฉบับใหม่ ร่วมทั้งกิจกรรมทางสังคมเพื่อเยียวยา ป้องกัน และแก้ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว

  • การเสนอประเด็นสุขภาพจิตในภาวะวิกฤต เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมเดือนกันยายน 2567 จ.เชียงราย The Active ติดตามการทำงานทีม MCATT กรมสุขภาพจิต ที่ลงพื้นที่ประเมินและดูแลจิตใจในสถานการณ์วิกฤต และสุขภาพจิตชาวคอนโดฯ หลังแผ่นดินไหวกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2568

  • ผลิตรายการพอดแคสต์ ชุด “Looser Lesson : ถึงฉัน ในวันที่แพ้” พอดแคสต์ที่ร่วมแบ่งปันไอเดียและเคลียร์ปัญหาใจ และผลิตซีรีส์ “(ก่อน)จิตป่วย…ใครก็ได้ช่วยที ?” ร่วมกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์

  • เวที Policy Forum นโยบายสุขภาพจิต : Mental Health Policy Ecosystem เริ่มต้นถอดบทเรียนเด็กวัย 14 ปี ก่อเหตุยิงภายในห้างสรรพสินค้า และหาทางป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำ โดยมีข้อเสนอให้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธาณะ และ “ระบบนิเวศสุขภาพจิต”

  • เวทีสาธารณะ “เปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576” ร่วมพัฒนากลไก ค้นหานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพใจ พร้อมนำเสนองานวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576

  • เวที Policy Forum “ทวงคืนสมาธิ” แก้ปมคุกคามสุขภาวะทางจิตยุคดิจิทัล ซึ่งมีข้อเสนอให้แก้ไขด้วยการควบคุมเนื้อหาจากบิ๊กเทค และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมิตรต่อสุขภาพจิต

  • นำเสนอเนื้อหาด้วยข้อมูลเชิงวารสารศาสตร์ (Data Journalism) ให้เข้าใจง่ายผ่านภาพอินโฟกราฟิก 2 ชุด คือ ข้อมูล “นโยบายแก้ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ มาถูกทางหรือยัง ?” และ “เร่งผลิต จิตแพทย์ รับมือสถานการณ์โรคจิตเวช” แสดงให้เห็นสัดส่วนของผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังสวนทางกัน พร้อมนำเสนอข้อจำกัด และโอกาสในการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์

  • The Active ยังร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม Better Mind Better Bangkok “HACK ใจ” ในรูปแบบแฮกกาธอนสุขภาพจิตครั้งแรกของไทย ระดมสมองต่อเนื่อง  2 วัน เพื่อค้นหานวัตกรรมฮีลใจ กับ 8 องค์กรจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต ร่วมจัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (Future Tales Lab by MQDC) กรมสุขภาพจิต สสส. UNDP สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ TP Lap

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active