สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย และ 18 มหาวิทยาลัย-อาชีวศึกษา จัดมหกรรม “แนะแนวการศึกษาคนพิการ” เพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียม
วันนี้ (21 ต.ค. 2563) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาเพื่ออนาคตคนพิการ “เด็กพิการเรียนไหนดี ปี 64” ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กทม. มุ่งเพิ่มทักษะให้เด็กพิการได้เข้าถึงระบบการศึกษาเท่าเทียมเด็กทุกคน ส่งเสริมขับเคลื่อนสู่นโยบายระดับชาติ
‘ภรณี ภู่ประเสริฐ’ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปี 2563 ประเทศไทยพบคนพิการกว่า 2 ล้านคน เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษา 1,533,159 คน เมื่อสำรวจถึงข้อมูลการศึกษา พบว่า ศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด 1,249,795 คน รองลงมาคือระดับชั้นมัธยมศึกษา 169,606 คน ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 35,085 คน ไม่ระบุการศึกษา 24,402 คน และอุดมศึกษา 21,220 คน
จากผลสำรวจของภาครัฐ ชี้ให้เห็นว่า คนพิการได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังพบคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา 69,371 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว สภาพร่างกายที่อาจทำให้ผู้ดูแลมองว่าไม่เอื้อต่อการเรียน รวมถึงสถานะทางการเงินที่มีส่วนทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา
“โจทย์ใหญ่ คือ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กพิการเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้กับเด็กทุกคน”
มหกรรมแนะแนวการศึกษาเพื่อคนพิการครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มีเป้าหมายให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้และค้นหาตนเอง วางแผนเลือกเรียนในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับความต้องการ เรียนรู้เส้นทางการศึกษาต่อระดับชั้นต่าง ๆ เทคนิคการเรียนและการสอบในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมถึงเส้นทางการประกอบอาชีพในอนาคตจากรุ่นพี่นักศึกษาพิการ และเพื่อให้ผู้ปกครองของนักเรียนพิการ สามารถเข้าถึงข้อมูลและตัวเลือกทางการศึกษา
โดยใช้ชื่อตอน “ปั้นฝันเป็นตัว” เน้นให้คนพิการค้นหาตัวเอง แนะแนวการศึกษาจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา กว่า 18 สถาบัน กิจกรรมเวิร์กชอป และกิจกรรมเพิ่มพลังใจจากการฟังรุ่นพี่นักศึกษาคนพิการด้านต่าง ๆ อาทิ ดำเกิง มุ่งธัญญา (ครูไอซ์) และณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ (น้องธันย์) เพื่อเป็นแนวทางตัดสินใจวางแผนศึกษาต่อที่ชัดเจนมากขึ้น และมีการสร้างพื้นที่ชุมชนออนไลน์ผ่านเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี” และกลุ่มเฟซบุ๊ก “เด็กพิการอยากเรียนมหา’ลัย” สำหรับสื่อสารแลกเปลี่ยน และสนับสนุนการเข้าสู่การศึกษาระดับสูงของคนพิการ