เลิกคิดเจรจาแกนนำ ต้องรับฟังเสียงผู้ชุมนุม

นักรัฐศาสตร์ แนะรัฐบาลมองความเคลื่อนไหวเยาวชน “ม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ” เปรียบเทียบกับคนเดือนตุลา รับฟังข้อเรียกร้อง ไปสู่รูปธรรม

วันนี้ (27 ต.ค. 2563) รัฐศาสตร์เสวนา ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ” รายงานผลการสำรวจเบื้องต้นการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 นำเสนอโดย ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล มีผู้ร่วมอภิปราย เช่น รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง, รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ และ ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

ผศ.กนกรัตน์ ระบุว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นการพูดคุยกับนักเรียน นักศึกษา และเด็กจบใหม่ จำนวน 250 คน ใน 8 จังหวัด ที่เข้าร่วมการชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ว่าทำไมยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน ทั้งที่ไม่มีแกนนำอยู่ ซึ่งการลงพื้นที่แยกออกมาได้ 6 มิติ

หนึ่ง เป็นคนรุ่นซับซ้อน และต้องอยู่กับโลกที่ซับซ้อน คือ ทุกคนมีประสบการณ์ท่ามกลางครอบครัว สังคม ที่อยู่ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง และ กปปส. การถกเถียงจึงเชื่อว่าไม่มีอะไรจริงแท้ มีทัศนคติว่าทุกสิ่งเป็นสีเทา ดูละคร ซีรีส์ ที่เป็นในเชิงเปรียบเทียบ นอกจากนี้ 10% ยังโตมาในครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single Mom) ค่านิยมครอบครัวเปลี่ยน เจอปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่บริบทสังคมยังตามไม่ทัน

สอง รุ่นที่เต็มไปด้วยกังวล กลัว และความโกรธ คือ โลกทัศน์ชีวิตต่างจากคนยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby boomer) เพราะพวกเขามองไม่เห็นอนาคตชีวิต จากการกระทำของรัฐบาล อยู่กับความ “กลัว กังวล กับอนาคตที่ไม่สามารถคาดหวังได้” ไม่ใช่เขาไม่อดทน ไม่พอใจในสิ่งที่ได้

สาม รุ่นที่แสดงอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง มีการแสดงออกถึงความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา รัก ชอบ ไม่ชอบ การสื่อสารเฉพาะกลุ่มถูกสื่อสารมากขึ้น ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มที่แสดงออก เรียกร้องหาเหตุผล ไม่เคยพอใจกับคำตอบที่ไม่มีเหตุผล เช่นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

เหล่านี้ทำให้พวกเขาถูกทำให้กลายเป็นรุ่นที่ไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่ว่าจะเรียนเก่ง-ไม่เก่ง รวย-จน เมือง-ชนบท

สี่ รุ่นที่เป็นตัวเอง เยาวชนส่วนใหญ่ตอบว่า แกนนำเป็นแค่คนเริ่ม ที่กล้าปราศรัยหลักในช่วงเริ่มแรกเท่านั้น บางคนไม่รู้จักชื่อแกนนำ แสดงออกว่าพวกเขาชื่นชอบการเคลื่อนไหวแบบมีรูปแบบ อีกทั้งยังรู้สึกดีเมื่อแกนนำอยู่ในที่ปลอดภัย ภาคภูมิใจที่การเคลื่อนไหวค่อย ๆ เติบโต

ห้า รุ่นที่ความได้เปรียบ เปรียบได้กับคนยุค 14 ตุลา (2516) ที่จบการศึกษาอย่างเป็นทางการ ทักษะอาชีพ เข้าถึงอาชีพ พูด วิเคราะห์ ทำสื่อ แต่หลังการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคสงครามเย็น มาสู่ยุค web 0.0 สื่อทีวี มีอำนาจ เมื่อมายุค web 1.0 สื่อมีสิทธิทำสื่อ แต่ยังเป็นคนมีกำลังทำสื่อด้านเดียว กระทั่ง web 2.0 ทุกคนเป็นสื่อได้ ยุคนี้ทำให้คนรุ่นสงครามเย็นเข้าใจไม่ได้ ทั้งการนัดหมาย การทำโปสเตอร์

“ในวันสลายการชุมนุม มีแกนนำคนหนึ่งแบตเตอรี่มือถือหมด มายืมมือถือดิฉัน เขาใช้เวลา 10 นาที ทำโปสเตอร์ออกมาเป็นไวรัล นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันตกใจ”

หก รุ่นที่ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในทางการเมือง คล้ายคนในยุค 1970 (พ.ศ. 2513) ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรุ่นแรกในสังคมไทย คนรุ่นนี้เป็นนักพัฒนาทักษะในการจัดการข้อมูลมหาศาล สามารถตอบคำถามเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลา (2519) ได้ เพราะอ่านทวิตเตอร์แค่ 6 ข้อความ ขณะที่มหาวิทยาลัยใช้เวลาสอน 1-2 คาบ และมีการจัดกิจกรรมตลอดเวลา ผ่านประสบการณ์จัดกิจกรรมหารายได้เป็นเรื่องปกติ

“มีคนถามว่าทำไมเด็กรุ่นนี้ถึงไปม็อบได้ไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะว่าเขาเรียน 8 คาบ แล้วเขายังต้องไปซื้อเชียร์ตลอด 3 เดือน มันจึงไม่ใช่ม็อบ แต่เป็นชีวิตของเขา”

ผศ.กนกรัตน์ ยังเสนอทางออกในเวลานี้ว่า รัฐไม่ควรใช้วิธีการเดิม ๆ เช่น การตักเตือน ดุด่าคุกคามทำให้กลัว การจับแกนนำ เมื่อก่อนทำได้ แต่ตอนนี้ยิ่งทำยิ่งออกมา ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสองฝ่าย รวมถึงการปฏิรูปสังคมไทย

แต่ผ่านมา 3 เดือน ยังไม่มีการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่อย่างเป็นทางการ เราปล่อยเป็นหน้าที่สื่อมวลชนที่จะบอกเปิดพื้นที่สาธารณะยังไม่เกิดขึ้น

“ตอนนี้การชวนแกนนำมาเจรจา ไม่มีประโยชน์แล้ว การยื้อเวลากำลังจะนำไปสู่ทางแพร่ง ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญกับเสียงของพวกเขา นำข้อเรียกร้องไปสู่การผลักดันเป็นรูปธรรม และเป็นผู้ใหญ่ที่น่าชื่นชม นำพาเขาไปสู่อนาคตที่ดี”

ขณะที่วงเสวนายังเห็นตรงกันว่า การชุมนุมครั้งนี้ ไม่ได้หลุดกรอบแค่เรื่องอำนาจการเมือง แต่ยังรวมถึงเรื่องเพศ ความเชื่อว่าไทยดีกว่าชาติอื่น ความเชื่อว่ารัฐบาลจะให้ความมั่นคง ปลอดภัย ความเจริญรุ่งเรือง แต่จากการที่เห็นรุ่นพ่อแม่ทำงานหนัก แต่เมื่อถึงวัยเกษียณ หรืออายุ 60 ปี กลับยังไม่มีสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดี เด็กเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกของความย้อนแย้งที่ชนชั้นนำในอดีตสร้างไว้

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน