สมัชชาสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก” เพื่อย้ำให้เห็นความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของมนุษย์ ขณะที่ไทยเข้าถึงน้ำประปาคุณภาพมาตรฐานเพียงร้อยละ 30
หน่วยงานด้านน้ำของไทยวางเป้าหมายผนึกกำลังพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้สะอาดได้มาตรฐาน ใช้น้ำอย่างประหยัด สอดรับกรอบยูเอ็น “ร่วมกันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คุณ อยากเห็น ในโลกใบนี้” ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 6 ว่าด้วยการมีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี ตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดประเด็นสำคัญเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ว่า “Accelerating Change” หรือ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” และรณรงค์ให้ทุกคน “Be the change you want to see in the world.” หรือ “ร่วมกันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คุณ อยากเห็น ในโลกใบนี้” โดยเริ่มต้นจากตนเอง บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน และชุมชน เพราะน้ำคือสิ่งจำเป็นของทุกชีวิต และ “น้ำเป็นสมบัติของทุกคน”
ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ่านสารผ่านบันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ออกอากาศทางเพจไทยคู่ฟ้า กล่าวว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ประเทศไทยได้วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัตด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน
1.การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม
2.การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ
3.การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ
4.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ
5.การเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน
ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลนิเวศ วิถีทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสมดุลการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบและเดินหน้าไปพร้อมกับประเทศสมาชิกในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ เพื่อยืนยันความร่วมมือ เร่งการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม พร้อมเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคน ร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ารวมทั้งมีส่วนร่วมในภาคีเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ยั่งยืนสืบไป
ผศ.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความจริงแล้วประเทศไทยสามารถเข้าถึงน้ำอย่างทั่วถึง แต่ในมุมมองด้านราคา และคุณภาพ ไทยเองเข้าถึงน้ำประปาคุณภาพดีตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เพียงร้อยละ 30 เพราะที่ผ่านมาไทยเองยังมีประเด็นปัญหา เรื่องท่อเก่า ท่อแตก ซึ่งเกิดให้มีการปนเปื้อนระหว่างการลำเลียงน้ำ
ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) ซึ่งสำรวจเพื่อออกคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไป 244 ประเทศทั่วโลก (รวมเขตปกครองพิเศษ) มีประเทศที่น้ำประปาได้รับการแนะนำว่าสามารถดื่มได้เพียง 56 ประเทศ ในขณะที่อีก 188 ประเทศ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยง ส่วนไทยนั้นเป็นประเทศที่ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา โดยมีระดับคุณภาพของน้ำประปาตามการสำรวจของ CDC เพียง 30%
ด้าน สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งขาติ (สทนช.) กล่าวว่าขณะนี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคีกว่า 40 หน่วยงาน บูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บทด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งสนับสนุนแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ และการเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน โดย จะมุ่งเน้นเร่งการเปลี่ยนแปลงด้วยความร่วมมือให้ทุกคนมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่ได้มาตรฐาน และร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดแนวคิดและส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ของเยาวชน
จึงมีการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนออนไลน์ “เยาวชนพลังร่วมและแนวร่วมบริหารจัดการน้ำ” ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และเครือข่ายเยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำของ สทนช. ซึ่งจะมีการประชุมออนไลน์ร่วมกับเยาวชนทั่วประเทศครั้งแรกในค่ำวันนี้ เวลา 19.00 น. และสนับสนุนการพัฒนาโมเดลและการขับเคลื่อนของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับกิจกรรม Roadshow ร่วมกับสถานศึกษาใน 4 ภูมิภาค พัฒนาเป็นสถานศึกษาต้นแบบการจัดการทรัพยากรน้ำ และมุ่งขยายผลไปยังครอบครัวและชุมชนโดยมีเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อน
กิจกรรมเนื่องในวันน้ำโลกปีนี้ จะไม่ได้มีแค่วันนี้ หรือสัปดาห์นี้ จะมีการดำเนินการต่อเนื่อง โดยประมาณเดือนสิงหาคม จะมีการจัดงาน “ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจะมีการเสวนา แลกเปลี่ยนแนวคิด และการนำเสนอต้นแบบความร่วมมือและการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาและขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม