มหาดไทย เร่งออกแบบหลักเกณฑ์ ‘รับรองสถานะบุคคล’ ตามมติ ครม. 29 ต.ค. 67

เน้นประชาชนสะดวก เจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจ ขณะที่ รอง ปลัด มท. ชี้ ตัวประกาศกระทรวงฯ ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ย้ำ ทุกขั้นตอนต้องจบใน 5 วัน คาด 4.8 แสนคน เสร็จภายใน 1 ปี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอบรมเพื่อการจัดการประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย ทั้งคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ คนเสมือนไร้สัญชาติ หัวข้อ บทบาทกระทรวงมหาดไทยกับการบังคับใช้กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย โดยมี ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมบรรยายให้กับนิสิต นักศึกษา คณะนิติศาสตร์ สู่การเป็นนักกฎหมายเพื่อสังคมและคนชายขอบ  

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ เขตทวีวัฒนา ที่เข้ามาร่วมฟังการบรรยายครั้งนี้ด้วย โดยสอบถามถิ่นที่อยู่ และแจ้งว่าใครที่มีปัญหาในการรับรองสถานะ จะต้องให้ตรวจสอบต่อไป พร้อมกล่าวสร้างแรงบันดาลใจให้กับนิสิตนิติศาสตร์ ในการใช้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้คน การมีใจที่จะช่วยคนที่มีปัญหา จะต้องทำงานไม่ใช่ทำเพียงเพราะเป็นหน้าที่ ต้องอยู่ภายในจิตสำนึก โดยสิ่งที่สำคัญคือต้องมีความรู้มีคุณธรรมในการที่จะนำกฎหมายไปใช้ในถูกทางและตัดสินใจบนพื้นฐานคุณธรรมและความดีงาม

รองปลัดกระทรงมหาดไทย ยังอธิบายถึง คำว่า “สถานะ” กับคำว่า “สัญชาติ” โดยระบุว่า สถานะ คือ ความเป็นอยู่ ความเป็นไป ส่วน สัญชาติ คือ การระบุว่าเป็นคนของรัฐใด ซึ่งต้องไปสืบหาประวัติความเป็นมา ว่า พ่อแม่เป็นใคร ซึ่งการรับรองสถานะบุคคลที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยาก เพราะกระบวนการต้องทำการสืบเพื่อให้เห็นรากเหง้า เพื่อได้สถานะ แล้วมากำหนดเรื่องสิทธิ หน้าที่ เพราะเมื่อมีสถานะ จะได้เรื่องของการมีชีวิตอยู่ในประเทศ

ดังนั้น State หรือ รัฐ ก็คือ สถานะ เป็นความหมายเดียวกัน คือ การที่ได้มีซึ่งสถานะ ก็คือ คนมีรัฐ  คนไร้รัฐ คือ คนที่รัฐมองไม่เห็นตัวตนขณะที่ สัญชาติ ก็ไม่ต่างจากสถานะ และยังมีเรื่องของเชื้อชาติ ซึ่ง เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะสืบสายโลหิต แต่สัญชาติ คือ ในทางกฎหมาย 

“พอบอกว่ามีสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติ ปี 2508 ได้เขียนไว้ด้วยหลักสายโลหิต พ่อไทยแม่ไทย ลูกก็ได้ไทย หรือ พ่อไทยแม่จีน ลูกก็ได้ไทย แม่ไทยพ่อจีน ลูกก็ยังได้ไทย คือ คนใดคนหนึ่งเป็นไทย ลูกมีสิทธิได้สัญชาติโดยกำเนิด ต้องมาถามว่า เราเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติหรือไม่ คือ หลักสายโลหิต ไม่มีอาณาเขต แต่หากเป็นหลักดินแดน ก็มีเรื่องของรัฐเข้ามาเกี่ยว ก็มีเรื่องแนวเขตของดินแดนเกิดขึ้น บางคนได้สัญชาติไทย ใน 2 กรณีคือ พ่อแม่ไทย เกิดในไทย ได้อยู่แล้วแต่พ่อต่างด้าว เกิดในไทย ก็ยังได้สัญชาติไทย เพราะ ประเทศเรายึด 2 หลัก คือ เกิดในเขตแดนไทยและหลักสายโลหิต”

ชำนาญวิทย์ เตรัตน์

ชำนาญวิทย์ บอกด้วยว่า กฎหมายสัญชาติมีข้อยกเว้น คือ ต้องเป็นคนที่เดินทางมาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีใบถิ่นที่อยู่ หรือถ้ามีหลักฐานอยู่ในไทยอย่างถูกต้อง ส่วนกรณีที่เป็นนักการทูต เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานจะไม่ได้ อย่างไรก็ตามการจะรับรองสัญชาติต้องมีการตรวจดีเอ็นเอ แต่ค่าตรวจค่อนข้างแพง บางกรณีหาครอบครัวก็ไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยต้องสอบสวน ทำให้ต้องใช้เวลานาน ที่สำคัญ คือ “ความจริง” การสอบสวนประชาชนต้องให้ข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง

“เรื่องสถานะบุคคลไม่ชัดเพราะเราไม่รู้เรื่องความเป็นมา เช่น ลัวะ เราต้องไปสอบถามความเป็นมา ว่ามาได้อย่างไร ถึงมาอยู่ใจกลาง กทม. แต่ต้องไปดูว่าเป็นลัวะในไทย หรือ ลัวะที่ข้ามมา แต่จะเห็นว่า อยู่มานาน พูดไทยได้ บางคนเรียนจนจบปริญญาตรี แต่บางคนพูดไม่ได้ ทำให้เป็นเงื่อนไขใน มติ ครม. ที่ต้องสื่อสารภาษาไทยได้ เด็กที่เกิดในไทย ได้สวัสดิการเรียนหนังสือ ซึ่งเรื่องนี้เราทำงานช่วยคนเดือดร้อน แต่บางทีก็มีคนที่ทุจริต และเมื่อทำเอกสารให้แล้ว กลับกลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐผิด ซึ่งการสอบสวนเบื้องต้นต้องเป็นความจริง เพื่อเข้ากับกฎหมายได้ถูกช่อง และความจริงจะปรากฎในสักวัน”

ชำนาญวิทย์ เตรัตน์

เด็กชาติพันธุ์ลัวะ นำดอกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวลัวะ เขตทวีวัฒนา มอบให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

ชำนาญวิทย์ เผยว่าที่กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน นอกจากเรื่องสัญชาติ ที่ยึดตามสายโลหิต และหลักการเกิดแล้ว การได้สัญชาติไทย ยังมีรูปแบบของคนที่เกิดต่างประเทศ และถือหนังสือเดินทางเข้ามาเพื่อขอรับสัญชาติไทยด้วย โดยการแปลงสัญชาติ ต้องมีใบถิ่นที่อยู่อาศัย และเข้ากระบวนการแปลงสัญชาติ หรือ กรณีการแต่งงานกับคนไทย

ส่วนกรณีกลุ่มเป้าหมายตาม มติ ครม. 29 ต.ค. 67 จำนวน 4.8 แสนคน โดยย้อนกลับไป ปี 2527 ที่มีการสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อเอามาใส่ในทะเบียนราษฎร โดยใช้วิธีการประกาศให้ผู้ใหญ่บ้านรับรองและนำมาใส่ คนที่อยู่ใกล้ ๆ ก็มีชื่อ แต่คนที่อยู่ไกลก็ไม่มีชื่อ เพราะเป็นการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และแจ้งผ่านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งขณะนั้นบางพื้นที่ก็ยังไม่มีการตั้งหมู่บ้านชัดเจน ทำให้มีกลุ่มที่ตกสำรวจ และกลุ่มนี้ก็ข้ามไปข้ามมาระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงมหาดไทย ถึงมีความพยายามให้คนที่มีการสร้างบ้าน ปักหลักที่อยู่ชัดเจนในไทย เกิดเป็นข้อมูล 19 กลุ่ม (เป็นการขึ้นทะเบียนบุคคลที่รอการพิสูจน์ สอบสวนการให้สัญชาติ) ซึ่งก็ผลักภาระการพิสูจน์ให้ประชาชน ทั้งการให้หาหนังสือรับรองการเกิด หาหมอตำแย แต่กว่าจะสำรวจก็นานหมอตำแยอาจเสียชีวิตไปแล้ว มีหลายชนเผ่าที่มีปัญหาเรื่องกระบวนการสืบเครือญาติ

“หลายกรณี พบว่า ปลัดก็ไม่ยอมทำ เพราะกลัวติดคุก เรื่องนี้กลายเป็นภาระราษฎร แล้วเขาทำไปก็ไม่เชื่อ ให้ไปหามาเพิ่ม หลายคนก็ล้มหายตายจาก บางคำถามก็ไม่ควรถาม สิ่งที่ควรจะถามไม่ถาม ปัญหาเรื่องการสอบสวนเพราะไม่เข้าใจ เขาอยากได้สถานะความเป็นคนของรัฐนี้ ต้องถามเขาว่ามีปัญหาอะไร ไม่ใช่ถามแต่ว่ามาทำไม”

ชำนาญวิทย์ เตรัตน์

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า หลังจากมติ ครม. 29 ต.ค. 67 กระทรวงมหาดไทย ยังไม่ออกหลักเกณฑ์ แต่คนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย ต้องเตรียมตัว และไปติดต่อที่อำเภอ เมื่อประกาศหลักเกณฑ์ออก ด้วยเงื่อนไขที่เรื่องนี้ต้องแก้ไขให้เสร็จภายใน 1 ปี ขณะที่กระบวนการของ 1 คน จะต้องใช้เวลาเพียง 5 วัน เนื่องจากมีข้อมูลทั้งหมดในระบบแล้ว ทั้งข้อมูลลายนิ้วมือ ข้อมูลใบหน้า แต่ในบางจังหวัดมีกลุ่มที่มีปัญหาจำนวนมาก จึงเป็นความท้าทายในการออกแบบหลักเกณฑ์ให้มีความรอบคอบมากที่สุด

“เวลาออกแบบ ดูเหมือนง่าย แต่งานบางจังหวัดเยอะ เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาคิด ให้เขาสะดวกในพื้นที่ที่เขาสะดวกเดินทางไป ซึ่งนี่อยู่ในกระบวนการคิดของกระทรวงมหาดไทย เพราะประกาศแล้ว ต้องทำให้เสร็จ และความจริงคนกลุ่มนี้เดินทางไปทำงานที่อื่นด้วย Data ที่ใครก็ตรวจสอบได้ ข้อมูลเชื่อมโยงกันทุกพื้นที่ คำนึงถึงความสะดวกของประชาชน ในการยื่นเรื่องได้ทุกพื้นที่ รวมทั้งงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการ และต้องมีการจัดการอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณา และต้องสอดคล้องกับกฎหมาย เช่น ใบถิ่นที่อยู่อาศัย ของกระทรวงมหาดไทย หรือที่ตำรวจออกให้  ขณะที่กลุ่มเด็ก 1.4 แสนคน ทางอัยการก็คำนึงถึงเรื่องที่ขัดแย้งกับกฎหมายสัญชาติด้วย” 

ชำนาญวิทย์ เตรัตน์

ขณะที่ ชาญเชาวน์ ไชยยานุกิจ ประธานมูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน บอกว่า นอกจากทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของปัญหาสถานบุคคล ของประชากรชายขอบแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าภาควิชาการ และภาคประชาสังคมมีศักยภาพในการเป็นภาคี ทำงานร่วมกับภาครัฐ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ปรับเปลี่ยนให้ภาครัฐยึดหลักที่ ว่า ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วและโปร่งใส

สะท้อนถึงหลักการและแนวปฏิบัติตามมติ ครม. 29 ต.ค. 67 ที่เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล มูลนิธิฯ ที่ดำเนินเรื่องนี้มาเป็นเวลานานจนจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 23 ปี ยังคงมุ่งมั่นและดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมและประสานงานทุกภาคส่วนให้เกิดผลในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ มนุษยชนภายในประเทศและภูมิภาคทั่วไป

ชาวลัวะ ทวีวัฒนา ที่เข้ามาร่วมฟังบรรยาย

แดง นัยสาม ตัวแทนชาติพันธุ์ลัวะ เขตทวีวัฒนา บอกว่า ได้รับความรู้จากการอธิบายเรื่องการแก้ปัญหาสัญชาติมากขึ้น และยังมีโอกาสได้พาคนในชุมชนที่มีปัญหาเรื่องข้อมูล หลักฐาน เพื่อมาทำความเข้าใจในการขอรับรองสถานะบุคคลด้วย 

เช่นเดียวกับ สาม ตาโป ประธานศูนย์ประสานงานสมาคมลัวะทวีวัฒนา ย้ำว่า พี่น้องชาติพันธุ์ลัวะส่วนใหญ่ ที่แม้ว่าจะอยู่อาศัย ทำงานในพื้นที่เขตทวีวัฒนา แต่ประวัติการเกิดของเขาอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งหากได้มาทำเรื่องรับรองสถานะบุคคลที่เขตทวีวัฒนาสะดวกกว่า ไม่ต้องเดินทางกลับไปที่ จ.เชียงราย ซึ่งอยากให้เป็นแบบนี้ และอยากได้ความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะเด็กบางคนที่พ่อแม่บันทึกข้อมูลผิดพลาด และความเข้าใจคลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ วันนี้ต้องการมาสอบถามเพื่อให้ได้คำตอบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active