ร่างฯ รัฐบาลได้คะแนนสูงสุด ส่วนร่างฯ ฝ่ายค้านเสนอยกเลิกรับรองประกาศ-คำสั่ง คสช. ได้คะแนนน้อยสุด
ร่าง ร.ธ.น.ฉบับประชาชน ไม่ผ่านสภา
หลังจากใช้เวลา 2 วันในการอภิปราย ในที่สุดรัฐสภามีมติให้ผ่าน 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ได้คะแนนเสียงจากสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 366 เสียงขึ้นไป จากสมาชิกที่ลงคะแนนทั้งหมด 719 คน จากสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ 732 คน และในจำนวนนี้ต้องได้คะแนนจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 82 เสียง ได้แก่ ร่างฉบับที่ 1 ของพรรคฝ่ายค้าน และร่างฉบับที่ 2 ของฝ่ายรัฐบาล ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และร่างของพรรคฝ่ายค้านอีก 4 ฉบับ ถูกตีตก โดยมีรายละเอียดการลงคะแนนทั้ง 7 ร่าง ดังนี้
ร่างฉบับที่ 1 ของพรรคฝ่ายค้าน เสนอให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และให้ร่างเสร็จภายใน 120 วัน / ห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2
– รับหลักการ 576 คะแนน ไม่รับหลักการ 21 คะแนน และงดออกเสียง 123 คะแนน
ร่างฉบับที่ 2 ของพรรคฝ่ายรัฐบาล เสนอให้มี ส.ส.ร. จำนวน 200 คน โดยเป็น ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 150 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และมาจากการเลือกของกลุ่มต่างๆ อีก 50 คน และร่างให้เสร็จภายใน 240 วัน / ห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2
– รับหลักการ 647 คะแนน ไม่รับหลักการ 17 คะแนน และงดออกเสียง 55 คะแนน
ร่างฉบับที่ 3 ของพรรคฝ่ายค้าน เสนอยกเลิกที่มาของวุฒิสภา ชุดพิเศษของ คสช. และอำนาจในการร่วมพิจารณา
ร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งไว้
– รับหลักการ 213 คะแนน ไม่รับหลักการ 35 คะแนน และงดออกเสียง 472 คะแนน
ร่างฉบับที่ 4 ของพรรคฝ่ายค้าน เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้นายกรัฐมนตรีมาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส. จากพรรคที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5
– รับหลักการ 268 คะแนน ไม่รับหลักการ 20 คะแนน และงดออกเสียง 432 คะแนน
ร่างฉบับที่ 5 ของพรรคฝ่ายค้าน เสนอยกเลิกบทบัญญัติที่ให้การรับรองประกาศ-คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงการกระทำที่เกี่ยวข้องให้ชอบด้วยกฎหมาย
– รับหลักการ 209 คะแนน ไม่รับหลักการ 51 คะแนน และงดออกเสียง 460 คะแนน
ร่างฉบับที่ 6 ของพรรคฝ่ายค้าน เสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบมีบัตรเลือกตั้งสองใบ เลือกทั้งคน-เลือกทั้งพรรค
– รับหลักการ 268 คะแนน ไม่รับหลักการ 19 คะแนน และงดออกเสียง 432 คะแนน
ร่างฉบับที่ 7 ฉบับประชาชน เสนอแก้ไข รธน.ใน 10 ประเด็น ได้แก่ ยกเลิกช่องทางนายกฯคนนอก และให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส., ยกเลิกที่มาและอำนาจ ส.ว. ชุดพิเศษของ คสช. และให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง, ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่ คสช. เขียน, ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้การรับรองประกาศ-คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงการกระทำที่เกี่ยวข้องให้ชอบด้วยกฎหมาย, ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, ให้ “เซ็ตซีโร่” องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ, ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เพียงเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา และให้จัดทำรัฐธรมนูญใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 200
– รับหลักการ 212 คะแนน ไม่รับหลักการ 139 คะแนน และงดออกเสียง 369 คะแนน
ณัฐพล – มงคลกิตติ์ แหกมติพรรคร่วมรัฐบาล ด้าน ส.ว.เนาวรัตน์ รับฉบับประชาชน
แม้จะมีการประกาศมติของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็มี ส.ส.บางคนที่ไม่ได้โหวตตามมติพรรค เริ่มจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 7 ฉบับ ถือเป็นการแหกมติวิปรัฐบาล และก่อนหน้านี้เคยถูกกดดันเเละเรียกร้องอย่างหนักจากกลุ่มนักเรียนและเยาวชน นอกจากนายณัฏฐพลแล้ว ยังพบว่ามี นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กับนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ โดยลงมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ เช่นเดียวกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ จากพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่ลงมติรับหลักการทั้ง 7 ร่าง
ด้าน ส.ว. แม้การลงมติส่วนใหญ่จะไปใน 2 แนวทางคือ ไม่รับหลักการและงดออกเสียง แต่ยังมี ส.ว. บางคนลงมติสวน ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ และนายพีระศักดิ์ พอจิต ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอโดย iLaw ขณะที่นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนา ส.ว.สายปฏิรูป ลงมติรับร่างที่ 1, 2, 4 และ 6 ไม่รับร่างที่ 3 และ 5 ส่วนร่างฉบับประชาชนลงมติงดออกเสียง