น้ำท่วมใต้กระทบแล้ว 30,000 ครอบครัว

อุตุฯ ย้ำ เสี่ยงท่วมระลอก 2 ด้าน ปภ. รายงานยังมีน้ำท่วมขังภาคใต้ 5 จังหวัด เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย และคลี่คลายสถานการณ์

วันนี้ (1 ธ.ค. 2563) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย ในพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด 46 อำเภอ 189 ตำบล 991 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,835 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำภาพรวมลดลง โดยขณะนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังและสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง

ปภ. ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. – ปัจจุบัน (1 ธ.ค. 2563 เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย รวม 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ยะลา นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี รวม 46 อำเภอ 189 ตำบล 991 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,835 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต แยกเป็น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ยะลา นราธิวาส และ สุราษฎร์ธานี รวม 43 อำเภอ 178 ตำบล 940 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,704 ครัวเรือน

ขณะที่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอ พระพรหม อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอทุ่งสง อำเภอนาบอน อำเภอลานสกา และอำเภอสิชล ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

จังหวัดพัทลุง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอกงหรา อำเภอป่าบอน อำเภอป่าพยอม และอำเภอเขาชัยสน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง สงขลา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ อำเภอควนเนียง อำเภอสิงหนคร และอำเภอรัตภูมิ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

นราธิวาส ยังคงมีน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำภอสุไหงโก-ลก อำเภอระแงะ และอำเภอเจาะไอร้อง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

สุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนสัก และอำเภอกาญจนดิษฐ์ รวม 4 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 60 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 1 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช รวม 3 อำเภอ 11 ตำบล 51 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 131 หลัง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

ปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ รถบรรทุก ติดตั้งเครน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถไฟฟ้าส่องสว่าง ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูงและเร่งระบายน้ำท่วมขัง รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์จังหวัดเสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 1 – 2 ธ.ค. 2563 มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ส่วนวันที่ 3 ธ.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง และชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณ อ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2563

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์