ไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ไม่ผิด

ศาล รธน. ชี้ ประกาศ คสช. ฉบับ 29/2557 และ 41/2557 ขัด รธน. ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายอีกต่อไป ผู้ไม่ไปรายงานตัว ไม่มีโทษทางอาญา

นอกจากคดีบ้านพักหลวง ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันนี้ (2 ธ.ค. 2563) ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีคำวินิจฉัยในคดีที่ศาลแขวงดุสิต ส่งคำโต้แย้งของ ศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 เรื่อง ให้การฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวเป็นความผิด นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเอกฉันท์ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 และ ฉบับที่ 41/2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า เฉพาะประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

โดยผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้ประกาศทั้งสองฉบับไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายอีกต่อไป และผู้ที่ถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกมารายงานตัวแล้วไม่มา จึงไม่มีโทษทางอาญาแต่อย่างใด

ข้อมูลจาก โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า มีผู้ถูกตั้งข้อหานี้ 14 คน ในจำนวนนี้ 11 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ส่วนอีก 3 คน ถูกดำเนินคดีในศาลยุติธรรม

สำหรับสถานะทางคดี มี 12 คน ที่คดีสิ้นสุดแล้ว ศาลพิพากษายกฟ้อง 1 คน คือ จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์, พิพากษาจำคุกแต่รอลงอาญา โทษจำคุก 10 คน และอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดีหนึ่งคน

และมีอีกสองคน ที่คดียังไม่ยุติ คือ ศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่คดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหาร ในขั้นตอนของการสืบพยานจำเลย และคดีของ จาตุรนต์ ฉายแสงที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลเห็นว่า คดีของเขาอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงให้จำหน่ายคดีจากศาลทหาร ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ระบุว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลา ที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว