หน.พรรคประชาชน ชี้แก้รัฐธรรมนูญ นโยบายรัฐบาล หากทำไม่ได้ นายกฯ ควรยุบสภา คืนอำนาจประชาชน เชื่อเพื่อไทย หวั่นรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ด้าน ‘สุทิน – หมอชลน่าน’ แถลงแจง ทำสภาล่ม หวังรักษาร่างแก้รัฐธรรมนูญ เตรียมเสนอญัตติ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ตีความทำประชามติกี่ครั้ง ฝากถามพรรคส้ม ดันแก้รัฐธรรมนูญ หัวชนฝา ได้ประโยชน์อะไร
วันนี้ (14 ก.พ. 68) ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาชน แถลงหลังจากการประชุมรัฐสภาล่ม และปิดประชุมไป ว่า พรรคประชาชน รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่จะเป็นด่านสุดท้ายที่คิดว่า หากเดินหน้าแก้ไขได้จะยังมีโอกาสได้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 และเชื่อว่า กระบวนการแก้ไขสามารถเดินหน้าอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่จำเป็นต้องเดินอ้อม เพราะจะสามารถนำไปสู่ปลายทางที่ ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
ทั้งยังเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงเช้าว่า วิป 2 ฝ่าย หารือร่วมกัน จากข้อกังวลของสมาชิก และเมื่อดำเนินการประชุมต่อพบว่า ฝ่ายรัฐบาลยังคงเดินหน้าให้นับองค์ประชุม และนำมาสู่เหตุการณ์สภาล่มในที่สุด

“แสดงให้เห็นว่าเราพยายามเดินอ้อมอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่เชื่อว่าเป็นทางออกเดินหน้าตรง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยในปัจจุบันขาดอยู่ 3 เรื่องหลัก ที่จะต้องอาศัยการเดินหน้าอย่างจริงจังมาตอบประชาชน การขาดเจตจำนงทางการเมือง การขาดนิติรัฐ และการขาดการไม่เคารพเสียงของประชาชน”
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ท้า นายกฯ ยุบสภา ไม่ทำตามที่สัญญาแก้รัฐธรรมนูญ
ผู้นำฝ่ายค้าน ยังอ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่า จากการขาดเจตจำนงทางการเมือง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่เคยพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทยในเรื่องนี้ ส่วนข้ออ้างของพรรคเพื่อไทยว่าเป็นการเดินอ้อมโดยการทำให้สภาล่ม เพื่อรักษาวาระญัตติไว้นั้นเป็นเพียง การอธิบายเพื่อรักษาสถานการณ์เฉพาะหน้า
“ปัจจุบันประเทศขาดความเป็นนิติรัฐ เพราะไม่ได้ถูกปกครองจากรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด แต่ถูกปกครองจากศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ สะท้อนว่า ระบบนิติรัฐของไทยมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข”
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ณัฐพงษ์ ยังมองว่า การไม่เคารพเสียงของประชาชน โดยอ้างอิงว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองมีข้อเสนอเช่นเดียวกันว่า จะเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยเห็นว่าทางออกในเรื่องนี้หากนายกรัฐมนตรี มีความจริงจังเดินหน้าเรื่องนี้ ซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุดในการยุบสภาสามารถเข้าไปเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน และยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน
“หากไม่สามารถเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกพรรค ร่วมรัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการยุบสภา เพื่อคืนเสียงให้กับพี่น้องประชาชนได้ เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 ครั้งที่ผ่านมา อยากยืนยันว่าสิ่งที่ขาดอยู่มี 3 เรื่อง”
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ย้ำภาพพรรคร่วมขัดแย้ง
ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน เชื่อว่า ประชาชนสามารถตัดสินใจ และเห็นได้ว่าพรรคการเมืองใดมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และพรรคประชาชนยืนยันว่า ที่ผ่านมาพยายามผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพื่อให้มีระบบการเมืองที่ดีขึ้น และเพื่อทำให้ผู้แทนราษฎร สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างตรงจุดรวดเร็ว
โดยอ้างอิงว่าพรรคเพื่อไทยมีความกังวลหากเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม อาจไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ใช่เพราะข้อกังวลทางกฎหมาย พร้อมอธิบายชี้เห็นว่า สาเหตุข้อกังวลดังกล่าวนั้นมาจากเรื่องข้อกฎหมายจริงหรือไม่ หรือเพราะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
“หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่า ต้นเหตุและสาเหตุของการได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทยและสมาชิกวุฒิสภากลุ่มนี้ ไม่ใช่สาเหตุเพราะข้อกังวลทางกฎหมาย ไม่ใช่เพราะสาเหตุความไม่ชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะว่า สส. พรรคภูมิใจไทย กับ สว. กลุ่มนี้ไม่ได้ลงมติเห็นชอบกับการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ หากพรรคเพื่อไทย บอกว่า ความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้พรรคภูมิใจไทยและสมาชิกวุฒิสภาร่วมเห็นชอบ แต่เหตุใดเจ้าตัวถึงไม่ลงมติเห็นชอบเมื่อวานนี้ เพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าอันนี้เป็นหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าต้นตอและสาเหตุของการรับเสียงสนับสนุนไม่ใช่ข้อกังวลทางกฎหมาย แต่คือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งปรากฏให้เห็นไม่ใช่เพียงเรื่องรัฐธรรมนูญยังมีเรื่องอื่นด้วย เช่น กฎหมายกลาโหม รายงานการนิรโทษกรรม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ กัญชา ค่าแรง หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์”
พริษฐ์ วัชรสินธุ
พร้อมชี้ว่าทางออกในเรื่องนี้คือ นายกรัฐมนตรี ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขความเห็นที่แตกต่าง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ หากนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรคืนอำนาจให้กับประชาชนและยุบสภา
‘เพื่อไทย’ รับทำสภาล่ม รักษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อีกด้าน พรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวชี้แจง หลังองค์ประชุมรัฐสภาล่มเช่นกัน โดย สุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย บอกว่า พรรคเพื่อไทย พยายามรักษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ ให้อยู่ในระเบียบวาระได้มากที่สุด ไม่ให้ถูกตีตก ซึ่งวันนี้มีท่าทีจะเปิดประชุมเพื่อพิจารณาต่อ ทุกคนรู้คำตอบแล้วว่า ถ้าพิจารณาแล้วลงมติก็ต้องตกไป ดังนั้น เมื่อมีจุดยืนที่จะรักษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ เพื่อหาลู่ทางนำไปสู่การแก้ไขให้สำเร็จ จึงไม่ขอร่วมเป็นองค์ประชุม
“จากนี้ เราจะพยายามนำเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาตีความให้ได้ ไม่ใช่ให้ค้างอยู่ แต่มีบางพรรคการเมืองไม่เข้าใจ และหลายฝ่ายหยิบยกไปตีความเข้าข้างตัวเอง ฝ่ายที่ไม่อยากแก้ ก็ตีความว่าศาลพิจารณาแบบนี้ จะแก้ไม่ได้ หากแก้ได้ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง นั่นคือความไม่ชัดเจนคลุมเครือ ทุกฝ่ายไม่อยากแก้นำไปเป็นความชอบธรรมให้ตัวเอง ถึงขั้นข่มขู่ว่าใครร่วมพิจารณามีสิทธิ์ถูกดำเนินคดี และถอดถอน ทำให้สมาชิกหลายคนวิตกกังวล ซึ่งเป็นข้อเสียของความไม่ชัดเจน ดังนั้น ถ้าปล่อยให้ความคลุมเครือดำรงอยู่ปีนี้หรือปีหน้า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ชี้ให้ชัดเจน ก็แก้ไม่ได้ หากเราเดินหน้าจนร่างตกไป ก็ต้องเป็นสมัยประชุมหน้า ที่จะยื่นได้”
สุทิน คลังแสง

อีกทั้งหากศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ทำประชามติ 3 ครั้งก็ชัดเจน ก็จะดำเนินการทำ 3 ครั้ง ซึ่งอาจต้องรอกฎหมายประชามติ หากศาลบอกว่า 2 ครั้ง ก็สามารถเดินหน้าได้เลย และจะมองเห็นความสำเร็จ การที่พยายามนำร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อคลี่คลายและปิดทางที่คลุมเครือให้ทุกฝ่ายเดินได้
“มากกว่านี้ก็คือ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาชัดว่าทำเพียง 2 ครั้งเท่านั้น จะได้เห็นว่าฝ่ายที่อ้างว่า ไม่อยากแก้แล้วเข้าข้างตัวเอง พรรคการเมืองเหล่านั้น หรือ สว.จะตอบว่าอย่างไร จะเดินหน้าแก้ด้วยกันไหม ประชาชนจะได้รู้ชัด รู้แจ้ง ว่าใครมีเจตนาที่จะแก้จริงหรือไม่จริง ดังนั้นทางเดียวที่จะผ่าทางตัน และพิสูจน์ คือให้ศาลวินิจฉัย”
สุทิน คลังแสง
เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทำประชามติกี่ครั้ง
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย บอกว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า จะทำประชามติกี่ครั้งนั้น พรรคเพื่อไทย จะรวบรวมรายชื่อให้เกิน 40 คน เพื่อเสนอญัตติใหม่ ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อบรรจุวาระการประชุมร่วมรัฐสภา ภายในสัปดาห์หน้า โดยขึ้นอยู่กับประธาน ว่า จะนัดประชุมใหม่วันไหน โดยจะไม่ใช่ญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา ที่เสนอไว้ เพราะอยากทำใหม่เลย เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า ญัตติของพรรคเพื่อไทย สามารถที่จะนำมาพิจารณาได้ เพราะวันนั้นญัตติที่ถูกตีตก คือญัตติขอเลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ไม่ใช่ตัวญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ที่ตกไป
สุทิน ยังย้ำว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้ประโยชน์ คือได้ความชัดเจน และจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีโอกาสสำเร็จ จึงอยากฝากสื่อมวลชน ให้ถามพรรคประชาชน ว่า แนวทางที่พรรคประชาชนกำลังเดิน มีประโยชน์อย่างไร แล้วจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำเร็จอย่างไร ถ้าเดินไปแล้วมันตก โอกาสจะแก้จะสำเร็จได้อย่างไร จะได้เอามาเปรียบเทียบกับแนวทางที่พรรคเพื่อไทยเดิน สื่อมวลชนจะได้เห็น ช่วยถามหน่อย ประชาชนจะได้นำมาเปรียบเทียบกับแนวทางที่พรรคเพื่อไทยเดินอยู่
เมื่อถามย้ำว่า พรรคประชาชน อยากให้ พรรคเพื่อไทย ทำความเข้าใจกันในพรรคร่วมรัฐบาล แล้วมาเดินหน้าโหวต สุทิน รับว่า ปัญหาวันนี้ ไม่ได้เกิดจากเสียง สส.ฝั่งรัฐบาล แต่มันเกิดจากเสียง สว. เราอยากได้ 67 เสียง แต่มันไม่ได้ ส่วนเรื่องของรัฐบาล เราก็ต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ทุกพรรคมีจุดยืนเป็นของตัวเอง พรรคเพื่อไทย ในฐานะเป็นแกนนำ ที่ทุกคนชอบถามหาความรับผิดชอบจากนายกรัฐมนตรี ว่า ถ้าเสนอในนามรัฐบาลไม่ได้ นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบอย่างไร เขาก็รับผิดชอบแล้ว โดยการให้พรรคของเขาเสนอแทน เพราะเมื่อพรรครัฐบาล แต่ละพรรคมีจุดยืนอย่างนั้น ในทางการเมือง นายกฯ จะแสดงภาวะผู้นำอย่างไร กับพรรคเหล่านั้น ก็ต้องดูต่อ แต่ความรับผิดชอบ ที่นายกฯ ทำต่อรัฐธรรมนูญ คือให้พรรคเพื่อไทย เดินหน้าแก้ และก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ถ้าถามความรับผิดชอบจากนายกฯ ก็ทำแบบนี้