พัฒนาข้อเสนอเป็นนโยบายสาธารณะ หวังลดข้อจำกัดการเข้าถึงฮอร์โมน หน่วยบริการสาธารณสุข ให้เกิดความเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 67 โครงการพัฒนากลไกนโยบายบริการสุขภาวะคนข้ามเพศ ร่วมกับ คลินิกทรานส์เจนเดอร์ PSU Pride Clinic โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ศูนย์ขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมือง สำนักงานคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการประชุมเครือข่ายส่งเสริมสุขภาวะคนข้ามเพศภาคใต้ ครั้งที่ 2 Southern Pride Health Assembly ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนากลไกนโยบายบริการสุขภาวะคนข้ามเพศ กล่าวว่า โครงการฯ ได้ริเริ่มจัดประชุมเพื่อเชื่อมให้เกิดเป็นเครือข่ายส่งเสริมสุขภาวะคนข้ามเพศภาคใต้ โดยมีการจัดประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 มี.ค .67 การประชุมดังกล่าวได้สร้างพื้นที่สำหรับคนข้ามเพศ บุคลากรทางการแพทย์ หน่วย/สถาบันวิชาการ ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และสถานการณ์ของกลุ่มคนข้ามเพศในภาคใต้กับภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม
ทำให้โครงการฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการต่อยอดเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 2 เพื่อขยายสร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในมิติทางสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม และต้องการแสวงหาโอกาสในการลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลและบริการตลอดจนแนวทางผลักดันทางนโยบาย ให้เกิดการส่งเสริมสุขภาวะคนข้ามเพศอย่างเป็นองค์รวมต่อไป
“หากความรักความเข้าใจเริ่มต้นที่บ้าน ภาคใต้ก็คือบ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกที่หลากหลาย ทั้งแพทย์ เครือข่ายคนข้ามเพศ สปสช. ในพื้นที่ วันนี้สิ่งที่จะมาคุยกันคือทำอย่างไรให้บ้านหลังนี้เป็นภูมิภาคที่ใส่ใจคนทุกคน เริ่มต้นคือต้องมีสุขภาพที่ดีก่อน ไม่ว่าคนในบ้านจะเลือกมีเพศสภาพแบบใด”
ณชเล บุญญาภิสมภาร
ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า กระบวนการมีส่วนร่วมมีความสำคัญอย่างมาก และเป็นทิศทางของ สช. ซึ่งกำกับโดยนายกรัฐมนตรี ภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยมีเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และ มีมาตรา 5, 6, 7 พูดถึงเรื่องสิทธิด้านสุขภาพ ทุกคนมีสิทธิจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งหมายถึงระบบการบริการ การศึกษา และสังคมด้วย
สำหรับนวัตกรรมในครั้งนี้ สช.ได้นำเครื่องมือในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายของผู้มีส่วนได้เสีย “ชี้เป้า เล่าความเคลื่อนไหว เติมกำลังใจ บอกทิศออกไป แล้วก้าวเดินไปด้วยกัน” เพื่อช่วยในการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการ policy canvas เพื่อให้ได้ร่างฯ ที่สื่อสารให้คนอื่นที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้ มองเห็นอย่างเข้าใจ
“เมื่อได้ร่างเอกสารแล้ว เปิดเวทีรับฟังซักหน่อย ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมและความเห็นร่วมกัน หลังจากนั้นเดือน มิ.ย 68 ซึ่งเป็น Pride month เรามาเฉลิมฉลอง จัดเวทีสมัชชาสุขภาพหาฉันทามติของข้อเสนอเชิงนโยบาย เชิญผู้เกี่ยวข้องมารับมติของพวกเรา และนำไปสู่การขับเคลื่อน โดยใช้กลไกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เสนอเป็นวาระ คสช. ซึ่งอยู่กันพร้อมหน้า เคลื่อนภาคใต้เสร็จ แล้วเคลื่อนระดับประเทศต่อ ดังนั้น สช. ยินดีเป็นหน่วยสนับสนุนการทำงานเรื่องนี้”
นพ.สุเทพ เพชรมาก
ผศ.นพ.กิตติพงษ์ เรียบร้อย คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการดำเนินงานของ คลินิกทรานส์เจนเดอร์ PSU Pride Clinic โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ว่า เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ริเริ่มโดย พญ.ปดิพร ลิ้มอัมพรเพชร ร่วมกับเพื่อนๆ กลุ่มแพทย์และพยาบาลที่มีความสนใจในคนไข้ที่มีฮอร์โมนขาดและฮอร์โมนเกิน ว่าจะทำอย่างไรให้คนไข้ได้ใช้ฮอร์โมนที่ถูกต้อง โดยผู้รับบริการสามารถข้ามไปสู่เพศที่ต้องการและเข้าถึงได้ทั้งกายและใจ
คณะกรรมการของโรงพยาบาล และคณะฯ จึงให้การสนับสนุนในวิธีคิด และเป็นที่มาของการให้บริการประชาชน ซึ่งถือเป็นการสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเข้าถึง ให้เกียรติ เคารพบุคคลจากตัวตนภายในของทุกปัจเจก เพราะคนข้ามเพศไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีมานานแล้ว ซึ่งคำว่าเปิดกว้างในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องของยุค แต่หมายถึงเราเข้าใจกันมากขึ้นรู้จักมากขึ้น เปิดใจมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการดูแลกันและกันมากขึ้น โดยทีมงานของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่ดูแลเรื่องนี้ ล้วนมาจากสหสาขา ตั้งแต่จิตแพทย์ซึ่งเป็นด่านแรกก่อนเข้ารับบริการ แพทย์ต่อมไร้ท่อ สูตินรีแพทย์ ตลอดจนศัลยแพทย์ และมีการวางรูปแบบที่ชัดเจนว่าจะมีการทำงานขั้นตอนเป็นอย่างไร เพื่อให้การดูแลเป็นไปด้วยความเคารพ เข้าใจไปถึงบริบทครอบครัวซึ่งเป็นฐานแรกของผู้เข้ารับบริการ
อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อเสนอถึงผู้ดูแลนโยบาย ผศ.นพ.กิตติพงษ์ ย้ำว่า โอกาสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในการที่จะมีโอกาสในการเข้าถึงบริการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ความตระหนัก หรือการรับรู้ของสังคมยังมีการมองแตกต่างอยู่บ้าง และในภาคใต้อาจมีวัฒนธรรมที่ต้องใช้เวลามากกว่านี้ในการปรับตัว แต่จำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงสถานบริการที่มีมิตรภาพ และมีคุณภาพ ตลอดจนเม็ดเงินที่เข้ามาดูแลยังมีข้อจำกัดอยู่
“การดูแลกลุ่มข้ามเพศในทางการแพทย์ไม่ควรจะนับเป็นการรักษาโรค เพราะไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่เป็นเรื่องปกติของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องมีความเข้าใจที่มากขึ้นในการดูแลให้มีคุณค่าอย่างเต็มที่ การจัดการประชุมในครั้งนี้นอกจากแสดงความเข้าใจกันและกัน น่าจะเป็นการพัฒนาเครือข่ายให้เกิดความร่วมมือ และเพื่อสังคมของเราจะอยู่กันเป็นครอบครัวที่เข้าใจ และรักกันมากขึ้น”
ผศ.นพ.กิตติพงษ์ เรียบร้อย
นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาเชิงนโยบาย : การขับเคลื่อนจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างสุขภาวะคนข้ามเพศ ผ่านบทเรียนจากคณะทำงานคลินิกทรานส์เจนเดอร์ PSU Pride Clinic และตัวแทนจากโครงการพัฒนากลไกนโยบายบริการสุขภาวะคนข้ามเพศ เพื่อสรุปประเด็นสำคัญของการกำหนดทิศทางนโยบายสุขภาวะคนข้ามเพศ โดยสรุปออกมาใน 3 ประเด็น คือ
- ระบบบริการ หลักเกณฑ์ Pride Clinic (system)
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้เรื่องคนข้ามเพศ (capacity building)
- ตัวชี้วัดของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (goal)
พร้อมจัดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาวะคนข้ามเพศ ภาคใต้ นําเสนอ และแลกเปลี่ยนเพื่อจัดทํา Policy Canvas สู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาวะคนข้ามเพศในภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป