อ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร และ อ.เดชา ศิริภัทร เน้นย้ำ แผ่นดินวิกฤต เพราะคนวิกฤต ปัญญาวิกฤต ทำลาย “ดิน น้ำ ป่า” หยุดวิกฤตด้วยการเคารพพระแม่ธรณี รักษาและดูแลดิน
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จัดมหกรรมวันดินโลก ตอน รักษ์ปฐพีคืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน (Keep soil alive protect soil biodiversity) อ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร กล่าวปาฐกถา วันดินโลก 5 ธ.ค. 63 “แผ่นดินของเราในวิกฤตกลียุค” ว่าผลงานตลอด 60-70 ปี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานอย่างหนัก ยังจำเป็นต้องสานต่อให้สำเร็จ โดยเน้นการพัฒนาคนทุกคนในโลกให้มีความพอเพียงละทิ้งความโลภ
ตอนนี้ทั่วโลกเห็นตรงกัน ตั้งแต่ ปี 2018 ต้องหยุดมลพิษในดินให้ได้ พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ หยุดสารพิษในดินให้ได้ อย่าเอาสารพิษใส่ ยาฆ่าหญ้าถ้าใส่ลงไปกบ เขียด แมลงตายหมด อย่าฆ่าแมลงด้วยสารพิษ อย่าเอาปุ๋ยเคมีไปใส่ลงในดิน แต่ถ้าเป็นเคมีชีวะก็ยอมให้ใช้ได้
ในปี 2019 หยุดชะล้างหน้าดิน เพรามันจะไปตื้นเขินอยู่ในหนองนั่นเอง และในปี 2020 คืนชีวิตที่หลากหลายให้แผ่นดิน ทำอย่างไรจะรักษาชีวิตในดินเอาไว้ให้ได้ สร้างความหลากหลาย คือ ทำชีวิตให้มีความหลากหลายทั้งใต้ดินทั้งบนดิน บนดินก็มีต้นไม้หลากหลายอย่าไปปลูกพืชอย่างเดียว ให้ปลูกอย่างอื่นผสมเข้าไป ดินมันจะได้อุ้มน้ำได้ ฝนตกก็จะได้ไม่หลากไปท่วม ฝนหยุดก็จะได้ไม่แล้ง
“บนความหายนะที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ว่ามนุษย์จะไปทำลายหรือเกิดภัยธรรมชาติ หรือการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นระลอกที่ 2 ที่เป็นภัยพิบัติที่โลกกำลังปรับตัวให้เกิดสมดุล … ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความอดยาก ข้าวยากหมากแพง และขัดแย้งฆ่าฟันกัน วิกฤตนี้จะหยุดได้ ต้องเริ่มจากการเคารพพระแม่ธรณี รักษาดิน ดูแลดิน ต้นไม้จะคืนมา น้ำจะคืนมา ความร่มรื่นจะคืนมา อาหารอุดมสมบูรณ์จะคืนมา น้ำใจและปัญญาของมนุษย์จะคืนมา” วิวัฒน์ ศัลยกำธร กล่าว
สอดล้องกับ อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ที่มองว่า วิกฤตธรรมชาติในปัจจุบันเกิดขึ้นจากความโลภ และความชินของมนุษย์ แต่การทำลายดิน น้ำ ป่า อากาศ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง สุดท้ายก็จะกลับกลายเป็นการทำร้ายตัวเองในระยะยาว โดยเฉพาะการทำลายดิน ที่ถือเป็นต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่งในโลก
“อย่าทำลายธรรมชาติ เพราะธรรมชาติ ก็คือ ธรรมะ คนมีปัญญามีหน้าที่ต้องทำตัวสอดคล้องกับธรรมะ กฎธรรมชาติ เพื่อความอยู่รอด ที่ดินจะเป็นตัวแทนที่ดีที่สุด พึ่งพาตัวเองได้ และอยู่รอดปลอดภัยทุกสถานการณ์…”
โดยในงานนี้ยังมีทีมนักตบลูกยางสาวไทย นำโดย ปริม อินทวงศ์ และนุศรา ต้อมคำ มาร่วมเล่าประสบการณ์การลงมือพัฒนา-ปรับพื้นที่เป็นโคก หนอง นา โมเดลนักกีฬา พวกเขายืนยันว่าเริ่มต้นจากใจรัก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการสร้างสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายจากดินที่ดีปลอดสารพิษ ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน มากกว่าการนึกถึงตัวเอง
แนวความคิดของการจัดตั้งวันดินโลก เริ่มต้นจากที่มีการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี 2545 (2002) องค์การสหประชาชาติ UN มีมติกดดันตั้งแต่ ปี 2018 ต้องหยุดสารพิษในดินให้ได้ จากนั้นในปี 2019 ประกาศหยุดชะล้างหน้าดิน
ขณะที่ธีมสำคัญของวันดินโลกปีนี้ คือ “คืนชีวิตที่หลากหลายให้แผ่นดิน” พร้อมกันนี้ UN ยังประกาศ GSP : global soy partnership ว่าจะช่วยคนอดอยากให้ได้ 100 ล้านคน ใน 50 ประเทศ