กำชับบุคลากรทางการแพทย์เข้มความปลอดภัยในการรักษาทุกขั้นตอน เผย เตรียมขยายเตียงเพิ่มอีก 400 เตียงในโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง
วันนี้ (10 ธ.ค. 2563) นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า ปัจจุบันเลือกใช้อาคารสมเด็จย่า ภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นสถานที่รักษาตัวของผู้ติดเชื้อโควิค-19 ใน จ.เชียงราย ไม่ให้ปะปนกับอาคารผู้ป่วยอื่น ซึ่งจะรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ ทั้งจากที่เดินทางลักลอบเข้ามา และผู้ติดเชื้อที่อยู่ในสถานกักกันโรคโดยรัฐ
ภายในตึก มีห้องความดันลบ 2 ห้อง และ กึ่งความดันลบ 12 ห้อง รวม จำนวน 84 เตียง หลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกใน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ถึง วันที่ 9 ธ.ค. มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เข้าพักรักษาตัวอยู่ภายในตึกนี้ 34 คน คิดเป็น capacity หรือความจุเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาล
หากในอนาคต ผู้ติดเชื้อใน จ.เชียงราย ที่มาจาก State Quarantine เพิ่มสูงขึ้น เกิน 84 เตียง ก็จะขยายต่อไปที่โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีเตียงรองรับถึง 400 เตียง
รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ บอกอีกว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษา ส่วนมากไม่มีอาการ โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลารักษา 10 วัน จนหายดี และให้เดินทางกลับบ้านได้ แต่บทเรียนจากโควิด-19 ที่ระบาดรอบแรก ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเตรียมการรับมืออย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ป่วยโควิด-19 คนสุดท้ายออกจากโรงพยาบาลไปเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ก็คาดการณ์ว่าการระบาดอาจเกิดขึ้นซ้ำอีก การป้องกันตัวเองของบุคลากรทางการแพทย์คือสิ่งสำคัญ ได้กำชับหัวหน้าห้องผู้ป่วยแยกโรค ให้เข้มงวดขั้นตอนในการถอดชุด PPE อย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับการเข้าใกล้ผู้ป่วย ที่ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย
“จำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงรายที่เพิ่มมากขึ้น รองจากกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมายของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ติดชายแดน หลังจากที่การระบาดรอบแรก มีผู้ป่วยรักษาตัวเพียง 9 คน แต่โควิด-19 ครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากกว่าหลายเท่าตัว จากการรับคนไทย กลับเข้ามา ในทุกช่องทางเพื่อสกัดการลักลอบเข้าเมือง”