ร้อง กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ระบุ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม สัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบน้อย แต่สร้างผลกระทบวงกว้าง เนื้อหาละเมิดสิทธิชุมชน
วันนี้ (16 ธ.ค. 2563) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ยื่นหนังสือถึง ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องยกเลิกกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง ประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เนื่องจากเห็นว่าขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และมีเนื้อหาหลายประการที่ละเมิดสิทธิชุมชน
‘จำนงค์ หนูพันธ์’ ประธานพีมูฟ กล่าวว่า การยื่นเรื่องร้องเรียนครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2563 พีมูฟ ได้มายื่นเรื่องร้องเรียนถึงคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวแล้ว จึงเกิดเวทีประชุมครั้งนี้ ซึ่งตนเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ มีสัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายเข้าร่วมน้อยมาก ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
“จะเกิดผลกระทบครั้งใหญ่ต่อประชาชน เพราะเขาไม่รับฟังความเห็นต่าง พยายามปิดกั้นตลอด เวลาให้เราพูดก็มีน้อยนิด ให้เวลาแค่กับคนที่เห็นด้วยอยู่แล้ว ซี่งเป็นมาตั้งสมัย สนช. ตั้งแต่ตอนออกกฎหมายแม่ที่เราพยายามไปคัดค้าน ก็ไม่รับฟังเรา พอกฎหมายลูกยิ่งหนัก เราคิดว่าต้องหยุดกระบวนการแล้วรับฟังความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมทั่วถึงกัน ถึงจะเกิดความยุติธรรม”
‘กันยา ปันกิติ’ จากชุมชนบ้านน้ำปลิว ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ยืนยันว่าชุมชนดังกล่าว เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อน และเห็นว่ากระบวนการสำรวจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติที่ผ่านมา มีแปลงทำกินหลายแปลงต้องหลุดมือ เพราะติดเงื่อนไขแปลงคดีและพื้นที่ล่อแหลม ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขตามร่างกฎหมายลำดับรอง
“แปลงที่ถูกดำเนินคดีจากช่วงทวงคืนผืนป่าเขาไม่รังวัดให้ ที่ดินหลุดมือ และเมื่อเดินไปแล้วสิ่งที่ตามมาคือใช้ภาพถ่ายทางอากาศเป็นตัวตั้ง จะกระทบกับวิถีการเกษตรแบบผสมผสาน ที่ถ้ามองในภาพถ่ายจะเหมือนป่า แต่จริง ๆ เป็นพื้นที่การเกษตร เขาก็บอกว่าเป็นป่า นอกจากนั้นยังติดคำว่าล่อแหลม ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาเอาอะไรเป็นเกณฑ์ ที่บ้านน้ำปลิวประมาณ 166 ราย 170 แปลง ล่อแหลมไปแล้ว 100 แปลง”
กันยา ระบุว่า ตนเข้าใจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่พยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อผ่อนผันให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินได้ แต่การแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นได้ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่มีส่วนร่วมและโปร่งใสเท่านั้นที่จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนอยู่กับป่า ภายใต้หลักการการเคารพสิทธิมนุษยชน
ด้าน ‘กฤติน หลิมตระกูล’ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ มีแผนจะดำเนินการในเดือนมกราคม หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน กรมอุทยานฯ จะดำเนินการจัดให้มีเวทีการรับฟังความคิดเห็นเป็นรายภาค จะจัดที่เชียงใหม่ ขอนแก่น ปราจีนบุรี และนครศรีธรรมราช จะนำข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนมาจัดทำร่างกฎหมายลูกที่ครอบคุลมที่สุด ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน จะให้มีการหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภูมิภาค และส่งมาที่กรรมาธิการฯ ด้วย เรื่องสัดส่วนผู้เข้าร่วม ประธานการประชุม และผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งจะส่งผู้แทนจากคณะกรรมาธิการฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้ง และให้กรมอุทยานฯ แยกประเด็นรายมาตรา เพื่อนำไปหารือกับคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพูดคุยหาทางออกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับข้อเรียกร้องที่พีมูฟยื่นต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย
- ยกเลิกการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาที่ขัดต่อหลักการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และจัดกระบวนการรับฟังความคิดใหม่ โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายและกำหนดกระบวนการรับฟังความเห็นที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการรับฟังที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในทุกภูมิภาคและทุกประเด็น โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในกระบวนการและการเดินทางทั้งหมด
- ให้ชะลอกระบวนการออกกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ไว้ก่อน เนื่องจากมีเนื้อหาหลายประการที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และต้องปรับแก้ในบางประการ
- ให้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร มีบทบาทเป็นคณะทำงานติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองดังกล่าวอย่างใกล้ชิดทุกกระบวนการ