นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ รายจ่ายด้านการศึกษาไทย ลงทุนสูงติด Top 5 ของโลก แต่โรงเรียน 1 ใน 3 ยังไร้ครู ดันปฏิรูประบบงบฯ ด้วยสูตรเสมอภาค
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดตัวระบบสารสนเทศบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ หรือ NEA ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Accounts: NEA)
รศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ รายงานสถานการณ์รายจ่ายด้านการศึกษาไทย เปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2551-2561 ระบุว่า 10 ปี บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาถึง 816,463 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นับว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม OECD (ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ต่อ GDP
นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดิน ยังถูกนำมาใช้ด้านการศึกษาสูงสุดมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีแผนปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 แต่ผลลัพธ์ต่อผู้เรียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อพิจารณาจากคะแนนโอเน็ต และคะแนนจากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA พบว่า ทักษะการอ่านและการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยต่ำกว่าระดับนานาชาติ แบบที่เรียกว่ารั้งท้ายมาอย่างต่อเนื่อง และยังเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งด้านโอกาสและคุณภาพผู้เรียน
ลงทุนสูง แต่ทำไมการศึกษาไทยยังไม่ไปไหน ?
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อธิบายว่า หากวัดจากจำนวนเงินจะรู้สึกว่ากระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงที่สุด แต่ถ้าเจาะลึกในรายละเอียด งบประมาณก้อนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ถูกใช้จ่ายไปกับเงินเดือนบุคลากรและการจ้างครู เมื่อขยายภาพไปที่โรงเรียน พบว่ามีเม็ดเงินตกไปถึงผู้เรียนน้อยมาก ตอนนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่า 1 หมื่นแห่ง หรือ 1 ใน 3 ที่เด็กนักเรียนไม่มีครูสอน ไม่มีทรัพยากรที่เหมาะสมจะเป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
รศ.ชัยยุทธ กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณไม่เพียงพอ แต่อยู่ที่ไม่สามารถใช้งบประมาณได้มีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ต่อผู้เรียนจึงยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในมิติของโอกาส และคุณภาพอยู่มาก ข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้คือ ปฏิรูประบบงบประมาณด้วยสูตรเสมอภาค หรือ การปรับสูตรงบประมาณรายหัว ให้เน้นความจำเป็นของนักเรียน และความแตกต่างของพื้นที่ซึ่งมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน รวมทั้งต้องสอดคล้องกับขนาดโรงเรียนด้วย เนื่องจากรายจ่ายต่อหัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 50 แต่การศึกษาไทยยังจัดสรรเท่าเดิมตลอด 10 ปี
“สูตรการจัดสรรงบประมาณปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้คุณภาพใกล้เคียงกัน แต่กลับถ่างขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะที่ควบรวมไม่ได้เสียเปรียบ ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องดูแลเด็กเปราะบางมากกว่า มีปัญหาในหลายมิติ แต่งบประมาณไม่ได้ปรับตัวตาม คุณภาพการศึกษาแย่ลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ”
รศ.ชัยยุทธ เพิ่มเติมว่า บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พบว่า งบประมาณรายจ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยมีแนวโน้มลดลง โดยในปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่ารวม 18,683 ล้านบาท ลดจากปี 2559 ที่มีจำนวน 28,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนงบประมาณในด้านนี้ยังถือว่าไม่มากนัก ดังนั้น จึงควรมีการจัดสรรงบประมาณอย่างทั่วถึงและให้กลุ่มเด็กยากจนด้อยโอกาสได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
NEA พิมพ์เขียวการลงทุนด้านการศึกษา
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ออกแบบนโยบาย ผู้บริหารสถานศึกษา และนักวิชาการ ตลอดจนผู้สนใจประเด็นการศึกษา เข้าใจโครงสร้างรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศมากขึ้น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ หรือ NEA (National Education Accounts) เป็นฐานข้อมูลออนไลน์ แสดงรายละเอียดรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551
ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาอย่างเป็นระบบชัดเจน ทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่ามีการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ดังนั้น กสศ. จึงจัดทำระบบบัญชีรายจ่ายการศึกษาที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
“คำถามแรกที่คนทั่วไปมักถามก็คือ ทำไมการศึกษาไทยลงทุนมาก แต่ได้ผลไม่มาก ทั้งที่การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน จะเห็นได้ว่างบประมาณด้านการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ปีละ 5-6 แสนล้านบาท แต่กลับไม่สะท้อนไปถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ด้วยเหตุนี้การจัดทำบัญชีรายจ่ายการศึกษาจะช่วยให้ทราบว่ามีการจัดสรรงบประมาณไปในกิจกรรมใดบ้าง จังหวัดใดได้มากหรือได้น้อย และเข้าถึงกลุ่มประชากรใดบ้าง เพื่อให้เกิดการทบทวนการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเสมอภาคมากขึ้น”
รองผู้จัดการ กสศ. เพิ่มเติมว่า การจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาเปรียบเหมือนการทำบัญชีรายจ่ายครัวเรือนเพื่อการศึกษาของลูกหลานเรา ฉะนั้นทุกภาคส่วนสามารถเข้ามานำข้อมูลนี้ไปปรับใช้ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาบนฐานของข้อมูลที่แท้จริง โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://research.eef.or.th/nea/ เพื่อดูข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาย้อนหลังได้
“หลังจากสถานการณ์โควิด-19 การจัดเก็บงบประมาณทำได้น้อยลง เราจำเป็นต้องมีระบบสมาร์ทอินเวสต์เมนต์ โดยจะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี และต้องดูว่าเรื่องไหนจำเป็นต้องลงทุนทันที เรื่องไหนรอได้ ดังนั้นหวังว่าการจัดทำงบประมาณปี 2565 NEA จะเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่เป็นประโยชน์ รู้ว่าจะต้องลงทุนตรงไหน โดยการลงทุนในมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนในระบบการศึกษา ซึ่ง NEA คือพิมพ์เขียวในการลงทุน โดยมีข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนในอีก 10 ปีข้างหน้า”
กสศ. เสนอกระจายงบฯ การศึกษา ให้ท้องถิ่นตัดสินใจบริหารเองได้
ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลของ NEA มีประโยชน์มากที่จะช่วยนำไปสู่ข้อเสนอต่าง ๆ ด้วยข้อมูลที่เป็นรูปธรรม แต่นอกจากงบประมาณแล้ว ก็ยังมีมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารจัดการ โดยจากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจในการบริหารงบประมาณของท้องถิ่นกับส่วนกลางแตกต่างกันมาก โดยงบท้องถิ่นมีเพียงแค่ร้อยละ 16 ขณะที่หลายประเทศที่มีคุณภาพการศึกษา อย่างฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา มีสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งการกระจายงบฯ ไปท้องถิ่นที่ดีจะช่วยให้การบริหารการศึกษามีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นของตัวเองได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม นอกจากไทยจะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว การกระจายตัวของทรัพยากรน้อยมาก อยู่กลุ่มเดียวกับละตินอเมริกา ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ หรือประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีการกระจายตัวของทรัพยากรการศึกษาที่ดี ทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะประเทศฟินแลนด์โรงเรียนใกล้บ้านก็มีคุณภาพไม่ต่างกันไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนไกล ดังนั้นประเทศไทยจะต้องทำให้เกิดการกระจายทรัพยากร กระจายอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น