ขยายพื้นที่ จาก ‘ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง’ หลังพบมีศักยภาพและความโดดเด่นเข้าเกณฑ์มรดกโลก ประชากรเสือและสัตว์ป่าเพิ่ม
วันนี้ (25 ธ.ค. 2563) 7 เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ ร่วมยื่นหนังสือต่อ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้เร่งดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ – คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง
เนื้อหาจดหมายระบุว่า สืบเนื่องจากวาระครอบรอบ 29 ปี ในการประกาศพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรอนุรักษ์ต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและรักษาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาประเทศ ขณะที่พื้นที่รอบผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง ก็มีศักยภาพในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า จนเป็นที่ยอมรับถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในประเทศไทย
ต่อมา มีแนวคิดในการขยายพื้นที่มรดกโลกเพิ่มเติม ผนวกเอาพื้นที่ใกล้เคียงที่มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับ โดยขยายจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เนื่องจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการขยายพื้นที่ป่ารอบข้างหรือป่าที่เป็นแกนกลาง (Core area) ให้เพียงพอต่อประชากรสัตว์ป่า
นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นของพื้นที่ตามเกณฑ์ความโดดเด่นอันเป็นสากลที่ผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง เคยเข้าหลักเกณฑ์การประกาศพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติมาก่อนแล้ว เช่น เกณฑ์ข้อที่ 7 ความโดดเด่นของธรรมชาติที่สวยงามเป็นอัศจรรย์ คือ ความสวยงามของลำน้ำแม่วงก์ ความสวยงามของน้ำตกขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทั้งในคลองลานและแม่วงก์ มีป่าดิบเขาผืนใหญ่เทือกเขาโมกูจู เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี
เกณฑ์ข้อที่ 9 ความโดดเด่นของขบวนการทางนิเวศวิทยา ชีววิทยา และวิวัฒนาการ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าใหญ่ คือ ผืนป่าตะวันตก เป็นแหล่งเสริมสร้างกระบวนการทางธรรมชาติให้กับผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้งอย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับการฟื้นฟูต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ไม่มีชุมชนอาศัย มีความหลากหลายของระบบนิเวศ ตั้งแต่ระบบนิเวศป่าที่ราบต่ำริมลำน้ำแม่วงก์ ไปจนถึงระบบนิเวศป่าดิบเขาสูงเทือกเขาโมกูจู
เกณฑ์ข้อที่ 10 ความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และชนิดพันธุ์ที่คุกคามใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก เนื่องจากเป็นที่รองรับการกระจายของประชากรเสือโคร่ง ช้างป่า วัวแดง และอื่น ๆ ที่ฟื้นฟูจากผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง
นอกจากนี้ จากการประชุมร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ และองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาติดตามประชากรเสือโคร่ง และการศึกษาสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งขนาดใหญ่ เช่น กวาง กระทิง วัวแดง จากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า
โดยพบว่าในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเสือโคร่ง ที่เกิดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ย้ายเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน และบางตัวได้มาอยู่ประจำในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และมีครอบครัว ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกที่เสือแต่ละตัวสามารถย้ายออกไปอาศัยยังผืนป่าอื่นได้ และนอกจากเสือโคร่งแล้วยังพบสัตว์ป่าในพื้นที่ เช่น เสือดำ เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวลายหินอ่อน แมวดาว เก้ง กวาง หมูป่า กระทิง นกเงือกคอแดง อีกด้วย
ความสำเร็จอีกประการหนึ่งของการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่า คือ การร่วมแรงร่วมใจทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความร่วมมือของชุมชนรอบพื้นที่ป่า การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย จนกลายเป็นความสำเร็จของการฟื้นฟูผืนป่าตะวันตก
7 องค์กรอนุรักษ์จึงเห็นว่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ – คลองลาน มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติส่วนขยายเพิ่มเติมจากพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่ฯ – ห้วยขาแข้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่เคยได้ร่วมลงชื่อไว้ในแคมเปญ CHANGE.ORG จำนวน 20,000 กว่ารายชื่อเพื่อร่วมผลักดันให้ป่าแม่วงก์ – คลองลาน ได้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ 7 องค์กรอนุรักษ์ที่ร่วมยื่นหนังสือ ได้แก่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย แพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย