อุดช่องว่างจัดการภัยพิบัติ ย้ำต้องเสริมความพร้อมท้องถิ่นรับมือ

สสส.จับมือภาครัฐ และเครือข่ายประชาชน จัดเวทีหารือแนวทางอุดช่องว่างจัดการภัยพิบัติ เน้นสร้างองค์ความรู้ สร้างชุมชนให้สามารถจัดการรับมือได้ทัน แนะหน่วยงานรัฐต้องบูรณาการและมีเป้าหมายเดียวกัน

วันนี้ (12 ก.ค.2568) โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์แปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งแต่ละปีไทยเองก็ต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่หลากหลาย ทั้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง อากาศร้อน ผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยพิบัติ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียทั้งชีวิตประชาชนกว่า 10,000 คน และ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท หากสามารถป้องกัน ผ่านการสร้างคน อุปกรณ์ และองค์ความรู้จะช่วยลดความสูญเสียลงได้

สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้จัดเวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2568 ในวาระ พลังชุมชนท้องถิ่นอภิวัฒน์ระบบสุขภาวะประเทศ ได้มีการเสวนา “บทบาทและภารกิจของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาระบบและกลไกการจัดการภัยพิบัติ” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชนท้องถิ่น ที่นำไปสู่การพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนงานตามบทบาทของชุมชนท้องถิ่นและส่วนราชการรวมทั้งองค์กรอื่นๆ ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน จากเวทีเสวนา พบว่าปัจจุบัน หลายภาคส่วนเริ่มมีการตื่นตัวต่อการรับมือภัยพิบัติ ขณะที่มีท้องถิ่นที่เริ่มรับมือได้ และท้องถิ่นเปราะบางมาแลกเปลี่ยน เพราะต่อจากนี้ไปแต่ละท้องถิ่นอาจต้องเฝ้าระวังเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นในยุคโลกร้อน อากาศแปรปรวน

จ่าโทโกเมศร์ ทองบุญชู ตัวแทน เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ (องค์กรภาคประชาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมี กว่า 8,000 ชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ จาก 20,000 กว่าชุมชน แต่ปัจจุบัน สามารถสร้างชุมชนรับมือภัยพิบัติได้เพียง 800-900 ชุมชนเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าน้อยมากกับการรับมือภัยพิบัติอนาคต หากไม่เร่งรัดสร้างการบูรณาการ ภาครัฐ ประชาชน เครือข่าย จะทำให้คนไทยรับมือไม่ทัน การพัฒนาคนในท้องถิ่นให้มีความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะการช่วยเหลือจะได้ทันท่วงที ในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ได้ จึงพัฒนาหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการจัดการภัยพิบัติ และอาสาสมัครให้มีความเชี่ยวชาญในการรับมือและตอบโต้ภัยพิบัติ การจัดการภัยพิบัติและรับมือ เพื่อขยายผล เน้นให้ชุมชนเป็นฐานในการปฎิบัติ

ปัจจุบัน สํานักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สํานัก 3) จาก สสส. ให้เราทำเรื่องนี้ แล้วได้สนับสนุน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ หลักสูตรรับรองโดย ปภ.เราถือว่าเป็นเป็นโครงการมีบันทึกความร่วมมือ ที่มีเป้าหมายเดียวกันก็คือ ต้องการให้ชุมชนนี้อยู่รอดปลอดภัย เตรียมภัยพิบัติ ซึ่งจะขยับขับเคลื่อนไปอีก 30 พื้นที่ มีนักวิชาการมหาวิทยาลัยที่เข้ามาหนุนเสริม ทั้งเรื่องการเรียนการสอน การนำเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าเทคโนโลยีโดรนกู้ภัย เรือ การพัฒนาระบบข้อมูล แล้วก็มีงานวิจัยมารองรับ

“อยากให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดให้ท้องถิ่นจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติ 3 ระยะ ส่วนนโยบายใหญ่อยากเห็นหน่วยงานวางเป้าหมายบูรณาการพร้อมกัน สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้ คือเราจะทำอย่างไรให้ หน่วยงานหรือองค์กรบูรณาการร่วมกัน แล้วก็วางเป้าหมายในการ จัดการภัยพิบัติ นี่คือ 2 เรื่องที่อยากเห็น ”

สรณัฐ ลือโสภณ ผู้อำนวยการสนับสนุนการมีส่วนร่วมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การรับมือกับภัยพิบัติก็คือการยกระดับภาคประชาชนให้มีความรู้ มีทักษะในการเอาชีวิตรอด แล้วก็อยู่ร่วมกับภัยพิบัติได้ เพราะจากนี้ไปภัยพิบัติมีความเสี่ยงเพิ่มและรุนแรงกว่าเดิม จริงๆแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็น หน่วยงานหลัก ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เป็นหน่วยงานแรกที่ต้องเข้าพื้นที่เมื่อเกิดสาธารณภัย กรมป้องกันฯ ก็ให้ความสำคัญกับการ เสริมสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ รู้ แล้วก็เข้าใจถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แล้วก็ตาม แผนการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในระดับต่างๆ การมีหลักสูตรก็จะส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานสากล

หลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการจัดการภัยพิบัติ และอาสาสมัครให้มีความเชี่ยวชาญในการรับมือและตอบโต้ภัยพิบัตินี้ เป็นความร่วมมือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกับ ทางมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งภาฯยามยาก สภากาชาดไทย เป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาสาระและรายละเอียดของหลักสูตรเป็นไปตามหลักการจัดการสาธารณภัย แล้วก็เข้ากับบริบทการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในปัจจุบัน รวมทั้งคำนึงถึงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นการทำงานร่วมกันทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วยกันแต่เป้าสำคัญคือประชาชนปลอดภัย ลดความเสี่ยงได้


ที่ผ่านมา การดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้หลัก CBDM หรือ การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management) คือ การที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผน ตัดสินใจ และดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทา และฟื้นฟูจากภัยพิบัติ โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดความเสี่ยง ความเปราะบาง และเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติซีพีดีอาร์เอ็มหรือการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานดำเนินการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง กว่า 20 ปีที่ผ่านมาสร้าง 17,763 ชุมชน หมู่บ้าน จาก 75,000 กว่า หมู่บ้าน และ 6,060 ชุมชนทั่วประเทศ

อรุณสวัสดิ์ ภูริทัตพงศ์ ที่ปรึกษามูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย สายงานปฏิบัติการภัยพิบัติ กล่าวว่า รูปแบบของภัยพิบัติเข้มข้นขึ้นทางมูลนิธิเองมองว่า การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน คือสิ่งสำคัญ การสร้างกลไกจากความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อลดช่องว่างการทำงานระหว่างหน่วยงานและเชื่อมโยงให้มีเป้าหมายจัดการภัยพิบัติ เราต้องมองว่าหากทำให้ชุมชนเข้มแข็งก่อนก็จะช่วยคนอื่นๆได้ ตอนนี้โครงการกำลังดำเนินการอยู่คาดว่าประมาณเดือนสิงหาคมน่าจะเสร็จเรียบร้อยในรุ่นแรก จะได้บุคลากร มีความพร้อมเพื่อขยายศูนย์จัดการภัยพิบัติโดยชุมชน

ปัจจุบันการอบรมหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการจัดการภัยพิบัติ และอาสาสมัครให้มีความเชี่ยวชาญในการรับมือและตอบโต้ภัยพิบัติ มี 30 ชุมชนทั่วประเทศ พอจบหลักสูตร เราหวังว่า 30 ชุมชนจะเข้ามาเป็นเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติ สิ่งที่กำลังทำคือการร่วมกันออกแบบ ชุมชน มูลนิธิ และ ปภ. ต้องตั้งตนจากตัวเองก่อน จะได้เข้ากับบริบทเชิงพื้นที่ ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายสามารถทำได้จากหน่วยเล็ก ทำอย่างไรก็ได้ ให้ชุมชนช่วยเหลือและดูแลตัวเองได้ เมื่อชุมชนมีองค์ความรู้จะเป็นแรงกระเพื่อม เป็นภาพสะท้อนไปสู่การนำไปใช้ในระดับนโยบายที่เกิดขึ้นจริงได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active