ศบค. เปิด 3 ฉากทัศน์โควิด-19 เลวร้ายสุด พุ่งวันละ 18,000 คน

หากไม่มีมาตรการ คาดจะสูงสุดกลางเดือน ม.ค. 64 สั่งจังหวัดแบ่ง 4 พื้นที่เสี่ยง ประเมินสถานการณ์ละเอียดถึงรายตำบล – อำเภอ

วันนี้ (29 ธ.ค. 2563) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อล่าสุด 155 คน โดยแบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 134 คน การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 11 คน และการติดเชื้อในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 10 คน รวมสะสมทั้งหมด 6,440 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) 1 คน ขณะที่มีผู้ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก  แบ่งเป็น ระยอง 556 คน ชลบุรี 28 คน จันทบุรี 3 คน และสมุทรปราการ 7 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมผู้เสียชีวิต 1 ราย ได้รับรายงานจากกรมควบคุมโรคว่า ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว คือโรคเบาหวาน และโรคหัวใจขาดเลือด ประกอบกับการดูแลตัวเองไม่ดี ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง และมีประวัติเสี่ยงจากการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้เสียชีวิตติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 27 ธ.ค. ต่อมาเช้าวันที่ 28 ธ.ค. ผู้เสียชีวิตมีอาการหอบเหนื่อย และหยุดหายใจระหว่างนำส่งโรงพยาบาล เมื่อถึงโรงพยาบาลก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการชันสูตรทางพยาธิวิทยา ส่วนแพทย์ที่ให้การรักษาในขณะนั้นใส่ชุด PPE ป้องกันทุกคน

จากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นรอบใหม่ จึงได้มีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ใน 3 กรณีไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค. 2564 โดย ฉากทัศน์แรก เป็นกรณีที่ไม่มีการดำเนินมาตรการใด ๆ อาจจะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นถึงประมาณ 18,000 คนต่อวัน ฉากทัศน์ที่สอง เป็นกรณีที่มีการดำเนินมาตรการกลาง ๆ อาจจะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่ 8,000 คนต่อวัน และฉากทัศน์ที่สาม กรณีที่ดำเนินมาตรการเข้มข้น จะมีผู้ป่วยอยู่ที่ 1,000 คน ต่อวัน

ส่วนรูปแบบการติดเชื้อในครั้งนี้ แบ่งได้เป็นสองรูปแบบ คือ การติดเชื้อจากบุคคลสู่บุคคล ทั้งที่เป็นกรณีที่รู้ว่าตนเองอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และไม่ทราบ รวมทั้งไม่ได้ระมัดระวังว่าได้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ส่วนรูปแบบที่สองคือ การติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเข้าร่วมในกิจกรรมทั้งที่เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการถูกต้องตามกำหมาย เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ การประชุม และกิจกรรมที่ลักลอบดำเนินการ เช่น การพนัน การมั่วสุม

ส่วนมาตรการหลักในการดำเนินการ ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กเมื่อช่วงเช้า ยังคงยึดการจำแนก 4 พื้นที่ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดคือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง แต่ที่กำหนดเพิ่มขึ้นมาคือ

1. ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รับผิดชอบกำหนดระดับพื้นที่สถานการณ์ว่า พื้นที่ใดในจังหวัดอยู่ในสถานการณ์ระดับใด และให้กำหนดลงไปถึงระดับตำบลและอำเภอตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาด โดยจะเริ่มให้มีการประกาศของแต่ละจังหวัดภายในพรุ่งนี้ (30 ธ.ค.)

2. ให้แต่ละจังหวัดมีกลไกเฝ้าระวังถึงระดับตำบล โดยใช้กลไกทางการปกครองและกลไกทางสาธารณสุข ทั้ง อสม. และ อสส. (ในพื้นที่ กทม.) ในลักษณะ โครงข่ายเฝ้าระวัง “รังผึ้ง”

3. ให้ ศปม. จัดชุดตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดให้มีการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ ศบค.กำหนด โดยเน้นความเข้มข้นตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมายซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

4. ในกรณีที่บุคคลใดทราบว่าตนเองได้เคยเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ ขอให้กักกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่น เป็นระยะเวลา 14 วัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติขอให้พบแพทย์ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้าน และให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์

5. ขอความร่วมมือประชาชนในการดำเนินการตามมาตรการ โดยหลังจากนี้ประมาณ 7 วัน ศปก.ศบค.จะประเมินอีกครั้ง หากสถานการณ์การระบาดยังไม่ดีขึ้น อาจมีการยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว