เริ่ม 7 วันอันตราย! รณรงค์ลดอุบัติเหตุ 14 วัน ไม่พอ

นักวิชาการ ชี้ คิดเป็นแค่ 4% ของผู้เสียชีวิตทั้งปี กว่า 2 หมื่นคน อีก 351 วัน ยังไม่เข้มงวด แม้มองเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่กระทบต่อสาธารณะ

10 ปี (2554-2563) อุบัติเหตุประเทศไทยเฉลี่ยเสียชีวิต 2 แสนคน ถือเป็นความรุนแรงสูญเสีย ที่เป็นช่องโหว่ ทั้งเรื่องกลไกการกำกับติดตามต่อเนื่อง เพราะแต่ละปี รัฐบาลจะรณรงค์เฉพาะ เทศกาลสงกรานต์ และ เทศกาลปีใหม่ ที่เป็นเพียง 4% ของการสูญเสียชีวิตทั้งปีเฉลี่ยกว่า 2 หมื่นคนต่อปี

ขณะที่โควิด-19 ตลอดปี 2563 เสียชีวิตเพียง 61 คน เทียบเท่าการตายจากอุบัติเหตุ ใน 1 วันเท่านั้น

แม้ปีนี้จะคาดการณ์ว่าการเดินทางช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การลดอุบัติเหตุทางถนน ลดความสูญเสีย ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญ

การเปิดศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หรือ ศปถ. ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ ที่เริ่มต้นนับสถิติในวันนี้ (29 ธ.ค.) และมีมาตรการเข้มในวันรุ่งขึ้น ยังคงเน้น 5 มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ครอบคลุมทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า ถ้าเทียบความน่ากลัว และอันตรายของโควิด-19 ที่ล่าสุดปีนี้ ไทยมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 61 คน ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นี้ ภายในปี 2563 ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันที่น่าเอามาเป็นตัวอย่าง ในการบริหารจัดการอุบัติเหตุทางถนน เพราะทุกวันนี้อุบัติเหตุทางถนนของไทยเพียงวันเดียว เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 60 คน ใน 1 ปีก็ประมาณ 2 หมื่นกว่าคนต่อปี ทั้งที่เป็นความสูญเสียที่ป้องกันได้

“นับแต่ปี 2554 -2563 ไทยตั้งเป้าลดอุบัติเหตุตามกรอบปฏิญญามอสโกให้เหลือครึ่งหนึ่ง แต่กลับพบว่าอัตราการเสียชีวิตยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นเท่ากับ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุแล้ว 2 แสนคน ถ้าคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจก็อยู่ที่ราว ๆ 5 แสนล้านบาทต่อปี ทั้ง ๆ ที่เราทุ่มเททั้งกำลังคนและทรัพยากรไปกับการรณรงค์ แต่กลับยังไปไม่ถึงเป้าหมายลดให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปีที่ยังทำไม่ได้”

ทุกวันนี้การบริหารจัดการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ลดลงไม่มาก ส่วนหนึ่งเริ่มที่กลไกการจัดการปัญหา เพียงแค่ 2 ครั้งต่อปี คือ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ รวม 14 วัน ที่มีทั้งการรณรงค์ การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด และมีการสั่งการไปในระดับพื้นที่อย่าง เข้มข้นก็จริง แต่พอถึงระดับพื้นที่บางครั้งอาจเแยกส่วน เพราะแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ก็ถือกฎหมาย ระเบียบและงบประมาณของใครของมัน ที่ยังไม่ถูกจัดการแบบเอกภาพแบบองค์พร้อม

ประเด็นนี้จึงควรมีกลไก การมีคนกำกับต่อเนื่อง และควรมีตัวชี้วัดการจัดการอุบัติเหตุทางถนน เพื่อลดการกระจัดกระจายในการบริหารจัดการ และเสนอต้อง ต้องคุ้มเข้มเอาจริงเอาจัง แก้ปัญหาอุบัติเหตุ อย่างมีทิศทาง ให้เหมือน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ปัญหาอุบัติเหตุยังไม่ลดลง ยังมีอีกหลายปัจจัย ทั้งเรื่องงบประมาณที่กระจัดกระจาย การบังคับใช้กฎหมายหรือ ระเบียบ ของใครของมัน ขณะเดียวกันเมื่อมีการสั่งการจากผู้มีอำนาจเต็มลงไปพื้นที่ จังหวัด อำเภอตำบลรับทราบ แต่ก็ขาดผู้กำกับติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังไม่มีตัวชี้วัดเพื่อประเมินให้เห็นผลการจัดการ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เพราะแต่ละปีรัฐบาลจะรณรงค์ เทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลปีใหม่ นี่เป็นเพียง 4% ของการสูญเสียชีวิตทั้งปีเฉลี่ยกว่า 2 หมื่นคน/ปี มันจึงยังไม่พอ ต่อการจะเข้มงวดเพียงแค่นี้เพราะ อีก 96 % ที่มีอีก 351 วันไม่ได้มีความต่อเนื่องในการเฝ้าระวังเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน จึงมีเสียงเรียกร้องให้การรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ด้าน พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ก็เห็นว่า เมื่อต่างคนต่างมีงบประมาณของตัวเอง มีกำลังคน และกฎหมายของตัวเอง ทั้งหมดนี้ คือปัจจัยที่ทำให้การแก้อุบัติเหตุไม่ลดลงอย่างจริงจัง แม้จะมีกลไกศูนย์ป้องกันและแก้อุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ระดับชาติไปถึงระดับตำบล แต่เป็นกลไกบริหารจัดการที่ไม่มีทั้งกำลังคนแน่นอนชัดเจน แต่อาศัยอำนาจมอบหมายสั่งการและให้หน่วยงานไปปฎิบัติตามกรอบงบประมาณตามกำลังคน และหน้าที่ที่ตัวเองมีอยู่ การทำงานจึงไม่ใช่เชิงรุกเมื่อดูแนวโน้มว่าโครงสร้างและขอบเขตหน้าที่ของกลไกส่วนกลางยังมีช่องโหว่ทำให้มีความพยายามกระตุ้นท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุจากท้องถิ่นเพื่อกดดันขึ้นไปสู่ระดับบนแทน

อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของพฤติกรรมส่วนบุคคลนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนคิดว่าปัญหานี้ไม่ใช่ประเด็นสาธารณะ แต่จริง ๆ เพราะความสูญเสียและผลกระทบที่ตามมา ส่งผลต่อสาธารณะ แม้เราจะเริ่มนับหนึ่ง 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่กันตั้งแต่วันนี้แล้ว แต่เมื่อพ้นจาก 7 วันไปแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ที่การคุมเข้มอุบัติเหตุทางถนนจะถูกนับต่อให้ครบทั้ง 365 วัน เพื่อเป้าหมายลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์