นพ.ทวีศิลป์ ย้ำ ต้องการความร่วมมือจากประชาชนใช้แอปฯ เพื่อควบคุมโรค ไม่ต้องการให้กลายเป็นสร้างความตระหนก ตกใจ หรือบีบบังคับ
วันนี้ (8 ม.ค. 2564) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงขอโทษประชาชนจากปัญหาการสื่อสารเรื่องแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ย้ำ ต้องการความร่วมมือจากประชาชนในการใช้แอปพลิเคชันนี้ในการป้องกันและควบคุมโรค ไม่ต้องการให้ข่าวนี้กลายเป็นการสร้างความตระหนก ตกใจ หรือบีบบังคับประชาชน
“ขออภัย ขอโทษ ในเรื่องที่ได้สื่อสารไปในหลาย ๆ เรื่อง ในช่วงของภาวะวิกฤต ที่มีชุดข้อมูลข่าวสาร ในเจตนาที่ได้พูดออกไปนั้นในเรื่องหมอชนะ เป็นเรื่องที่ต้องการความร่วมมือจากประชาชนมาก ๆ ในการที่จะได้ใช้แอปฯ นี้ในการปกป้องตัวเอง และปกป้องสังคมไทย คนไทยทั้งหมด รวมคนที่อยู่ในประเทศไทยด้วย แรงงานต่าง ๆ”
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ต้องการแถลงก็คือ คนที่ป่วย คนที่ปกปิดข้อมูล และไปตรวจพบแล้วว่าไม่มีแอปฯ ไทยชนะ คนเหล่านี้ต้องได้รับการกำหนดโทษ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันต้องมีคำเชื่อมประโยคอีก ไม่ใช่เป็นแค่ว่า คนไทยต้องมีแอปฯ ไม่มีแล้วผิด
หากป่วย แล้วปกปิดข้อมูล แล้วไม่มีแอปฯ ทำให้ต้องใช้เวลาในการสอบสวนมากขึ้น การมีกฎหมายนี้ก็เพื่อคุ้มครองคนส่วนใหญ่ จึงขอกราบเรียนพี่น้องประชาชนได้ทราบ ไม่ได้ต้องการให้ข่าวนี้สร้างความตระหนกตกใจ หรือความรู้สึกที่จะต้องมาบีบบังคับ
“ในเรื่องที่สื่อสารไป ในเจตนาที่จะพูดเรื่องหมอชนะ เพราะต้องการความร่วมมือจากประชาชขน เพื่อต้องการให้แอปฯ นี้ในการปกป้อง ถ้าป่วย ปกปิดข้อมูล การมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองคนส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้ข่าวนี้สร้างความตระหนกตกใจ หรือบีบบังคับ ย้ำว่าจะเป็นโทษ ก็ต่อเมื่อติดเชื้อ และปกปิดข้อมูล และอยู่ในวิสัยที่สามารถมีโทรศัพท์ได้”
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า เมื่อวานรู้สึกเสียใจ แต่วันนี้ดีใจที่เห็นยอดดาวน์โหลดแอปฯ นี้ ในวันที่ 7 ม.ค. มากถึง 3.69 ล้านครั้ง จากวันที่ 6 ม.ค. ที่มียอดดาวน์โหลดแค่ 1.65 ล้านครั้ง พร้อมยืนยันว่า จะพยายามทำหน้าที่ในการสื่อสารในฐานะโฆษก ศบค. ให้ดีที่สุด
ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อวันนี้ (8 ม.ค.) จำนวน 205 คน เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 131 คน จากการตรวจาสอบเชิงรุก 58 คน และผู้เดินทางจากต่างประเทศ 16 คน รวมสะสมทั้งหมด 9,841 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้เปอร์เซ็นต์จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 0.68%
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง พบว่าในช่วง 7 วันที่ผ่านมามี 37 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วย มี 16 จังหวัด ที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ได้แก่ สระบุรี นครนายก สระแก้ว อุบลราชธานี ชัยภูมิ หนองคาย มหาสารคาม อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ สุโขทัย นครศรีธรรมราช ระนอง สงขลา สตูล ตรัง และนราธิวาส
มี 4 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วย 14 วันที่ผ่านมา คือ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร อุดรธานี และภูเก็ต และอีก 20 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย คือ ศรีสะเกษ ยโสธร บึงกาฬ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร แพร่ พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี พิษณุโลก พังงา ชุมพร พัทลุง ปัตตานี และยะลา