กลุ่มนักดนตรีอิสระ ยื่น 4 ข้อเสนอ ต่อนายกฯ เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ขาดรายได้จากการปิดร้านอาหารกลางคืน
วันนี้ (8 ม.ค. 2564) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตัวแทนกลุ่มนักดนตรีอิสระ คนทำงานกลางคืน รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี หลังนักดนตรีอิสระที่ประกอบอาชีพเล่นดนตรีตามร้านอาหารในช่วงกลางคืน ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ตามมาด้วยมาตรการคุมเข้ม ปิด ผับ บาร์ สถานบันเทิง รวมถึงการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ช่วง 21.00-06.00 น. ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ผู้ประกอบการ และนักดนตรีไม่สามารถทำงานได้ และขาดรายได้แทบจะทั้งหมด
ทักษะศิลป์ อุดมชัย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัด ซึ่งถูกกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้รับผลกระทบไม่สามารถทำงานได้ และยังส่งผลต่อกลุ่มนักร้อง นักดนตรีอิสระนับหมื่นคน ได้รับผลกระทบ กลายเป็นคนตกงาน ขาดรายได้ ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2564 เป็นต้นมา
กลุ่มนักดนตรีอิสระ จึงเรียกร้อง 4 ประเด็น
- มาตรการเยียวยาจากภาครัฐเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่หากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สามารถกลับไปทำงานได้ตามมาตรการของสาธารณสุข ก็จะไม่ขอรับเงินเยียวยาต่อ ซึ่งทางกลุ่มเชื่อว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระยะเวลา 3 เดือน
- ความช่วยเหลือเรื่องการพักชำระหนี้ โดยขอให้รัฐบาลออกหนังสือรับรองให้เป็นบุคคลกรณีไร้รายได้ฉุกเฉิน เนื่องจากการถูกสั่งไม่ให้ทำงานเพราะสถานที่ทำงานเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคจึงถูกปิด
- การผ่อนปรนใบอนุญาตของร้านอาหาร เรื่องการแสดงดนตรีสด และ
- ขอให้ภาครัฐ หางานให้กับนักดนตรี ในช่วงที่ยังประกาศห้าม เพื่อให้มีรายได้ เช่น การแสดงดนตรีของหน่วยงาน งานขายสินค้า เป็นต้น
ด้าน จรูญ มณฑาชาติ ตัวแทนนักดนตรีอิสระ กล่าวว่า ตนเองเล่นดนตรีตามร้านอาหารเป็นอาชีพมานานกว่า 20 ปี แต่วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุด ตนเองและเพื่อน ๆ ขาดรายได้ไม่สามารถตระเวนไปเล่นที่ไหนได้ ที่ผ่านมาพยายามปรับตัวด้วยการเล่นดนตรีผ่านช่องทางออนไลน์ แต่งเพลงขาย แต่รายได้ก็ไม่เท่ากับเมื่อก่อน จนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน จนปลายปีสถานการณ์เริ่มดีขึ้น คิดว่าจะมีรายได้ช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่โควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ ทำให้เหมือนเจอคลื่นลูกที่ 2 ทั้งที่กำลังจะฟื้นตัวได้
“ที่ผ่านมา พวกเราปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด เพราะเราเองถูกมองเป็นจุดเสี่ยงอยู่แล้ว เราไม่อยากกลับมาขาดรายได้อีก แต่กลายเป็นว่าครั้งนี้ต้นเหตุมาจากแรงงานข้ามชาติที่หลุดเข้ามา เราไม่มีทางเลือก นอกจากขอให้รัฐเยียวยา และถ้ากลับมาผ่อนปรนเล่นดนตรีได้เหมือนเดิม จะไม่ขอรับเงินเยียวยาอีก”
ขณะที่ในระยะยาว เสนอว่า รัฐบาลควรมีกฏหมายรับรองอาชีพนักดนตรีอิสระ หรือผลักดันให้การเล่นดนตรีกลายเป็นวิชาชีพ สร้างความมั่นคง ทำให้ภาครัฐยอมรับความเป็นวิชาชีพนักดนตรี รวมถึงให้สถาบันการเงินยอมรับว่าอาชีพนี้มีอยู่จริง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้คนที่ทำงานนี้
สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมยืนยันว่า จะนำเรื่องนี้ส่งต่อไปยังที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบ พร้อมขอบคุณกลุ่มนักดนตรีที่มายื่นหนังสือและสะท้อนปัญหาให้ทางรัฐบาลได้รับทราบ