“สถาบันวัคซีนฯ” ยัน “ซิโนแวค” ได้ประสิทธิภาพ 91%

แจง จัดซื้อเพียง 2 ล้านโดส ใช้เร่งด่วนฉุกเฉิน หากรอช้า อาจส่งผลเสียมากกว่าราคาวัคซีน ระยะยาวเตรียมผลิตเอง รับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

วันนี้ (8 ม.ค. 2564) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยกับ The Active ว่า การจัดหาวัคซีนซิโนแวค ประเทศจีน ล็อตแรก 2 ล้านโดส เป็นการจัดหาในภาวะเร่งด่วน โดยมีการเจรจาหลายบริษัท แต่ที่สามารถจัดส่งให้ในไตรมาสแรกได้รวดเร็วที่สุด คือ ซิโนแวค ทั้งนี้ ยืนยันซิโนแวค มีการทดลองในระยะ 3 กับกลุ่มประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าประเทศจีน ที่ตอนนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ผล ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพ 78 – 91% และได้ใบรับรองแล้วเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.​) ทำให้หมดข้อกังขาเรื่องของประสิทธิภาพ แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนทุกยี่ห้อที่ผลิต จะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานเท่าใด เพราะเป็นวัคซีนรูปแบบฉุกเฉินที่ต้องทำการวิจัยและเรียนรู้เก็บข้อมูลไป คาดว่าอีก 6 เดือนหลังจากมีการฉีดวัคซีนรอบแรก จึงจะได้คำตอบว่าวัคซีนสามารถภูมิคุ้มกันได้ในระยะเวลาเท่าไหร่ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะ 3 – 6 เดือน

วิธีการตัดสินใจจองซื้อวัคซีน เน้นความรวดเร็วเพื่อยุติผลกระทบทางเศรษฐกิจแม้จะมีราคาสูง แต่ต้องนำมาคำนวนถึงผลกระทบ เพราะถ้าหากวัคซีนมาช้าเกินไป เพื่อไปรอซื้อวัคซีนที่จะมีราคาต่ำลงในช่วงปลายปี อาจจะทำให้ศักยภาพการควบคุมโรคไม่ดีพอ ไม่ทันต่อผลกระทบที่เกิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้น​ ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน

นพ.นคร เปรมศรี | ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ

อย่างไรก็ตามในระยะยาว การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากบริษัทแอสตราเซเนกา จะเป็นผลดีต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านวัคซีนของประเทศไทย เพราะถือเป็นการเรียนรู้ทางลัด ซึ่งในอนาคตยังคงมีความต้องการวัคซีนอีกเป็นจำนวนมาก เพราะอาจจะต้องมีฉีดซ้ำและจะต้องมีแผนในการจัดซื้อวัคซีนอีกระยะ 2 โดยประเทศไทยต้องเตรียมแผนในการผลิตวัคซีนด้วยตัวเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาการซื้อวัคซีนอย่างเดียว ล่าสุด ไบโอเทค สวทช. กำลังศึกษาวิจัยวัคซีนต้นแบบ เพื่อที่จะถอดรูปแบบการทำวัคซีนของแอสตราเซเนกา เพื่อผลิตเอง

อนาคตอาจมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีก โควิด-19 ไม่ใช่วิกฤตครั้งสุดท้าย จำเป็นต้องวางรากฐานให้เกิดเป็นห่วงโซ่การผลิตวัคซีนที่ครบวงจร เกิดขึ้นภายในประเทศไทย ทั้งสถานที่ทดลองในสัตว์ ห้องปฏิบัติการ และโรงงานในการผลิตวัคซีน ในระยะยาว เราจะได้ยืนด้วยขาของตนเอง เพื่อรับมือกับไวรัสตัวใหม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS