ของขวัญวันเด็ก ขอสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

301 องค์กร เรียกร้องนายกฯ มอบนโยบายเงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า เป็นของขวัญวันเด็ก 2564 เยียวยาวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 เครือข่ายภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ที่แทนตัวเองว่า  คณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า 301 องค์กร ได้จัดเวทีแถลงการณ์ “เรียกร้องนายกรัฐมนตรีมอบของขวัญวันเด็กปี 2564 ด้วยสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า” ที่มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ ถนนรัชดาภิเษก 36 กรุงเทพฯ

สุนี  ไชยรส จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อ่านจดหมายเปิดผนึกที่เครือข่ายภาคประชาสังคมและภาควิชาการ  301 องค์กรทั่วประเทศ ร่วมเสนอสถานการณ์และข้อเรียกร้อง ระบุ  คณะทํางานฯ ได้ทําจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อผลักดันนโยบายนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่าสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเป็นการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุดด้านการพัฒนาเด็กจนล่าสุด คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2563  เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 เห็นชอบต่อแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน โดยให้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 คือเดือนตุลาคม 2564 แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมารอบใหม่มีความรุนแรงมากกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมทุกกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะเด็กเล็กมักเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้าม

“คณะทํางานฯ โดยองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมจํานวน 301 องค์กร จึงได้ร่วมกันลงชื่อขอ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มอบของขวัญวันเด็ก 2564 ที่มีคุณค่าที่สุดคือ สนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน ตามมติของ กดยช. โดยให้พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เริ่มดําเนินการทันที ตั้งแต่มกราคม 2564 นี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กเล็กที่ครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และยังเตรียมความพร้อมสู่นโยบายดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2565 อีกด้วย”

ตัวแทนคณะทำงานฯ ยังได้สะท้อนปัญหา เกี่ยวกับสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี โดย ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตจากโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประกาศปิดสถานรับเลี้ยงเด็กโดยไร้มาตรการรองรับ ทําให้เด็กยากจนขาดความช่วยเหลือเรื่องนมและอาหารขาดการพัฒนา เพราะเด็กต้องอยู่ในห้องเช่าแคบ ๆ และเสี่ยงอันตรายจากที่พ่อแม่ต้องไปหาเช้ากินค่ำ 

“เด็กเล็กอาจต้องอยู่กับพี่ที่อายุน้อย หรือต้องติดตามพ่อแม่ ผู้ดูแลไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง บางกรณีเช่น ยายไปรับจ้างทําความสะอาดในศูนย์อาหาร ต้องเอาหลานไปด้วย ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการดูแลเด็กเล็กทั่วประเทศ เงินช่วยเหลือ และสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเป็นคำตอบ”

อภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพิ่มเติมข้อมูลสถานการณ์แม่ในโรงงานว่า กว่าร้อยละ 70 แม่ที่ทํางานภาคอุตสาหกรรมเข้าไม่ถึงโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะไม่ทราบว่าตนมีสิทธิ คิดว่ามีเพียงเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม ยิ่งตอนนี้ หลายคนตกงาน ถูกเลิกจ้างลอยแพ พอไปเจอระบบการคัดกรอง หาคนคำ้ประกัน ตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อรับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก เดือนละ 600 บาท หลายคนแม้กําลังตกงานก็ยังไม่ผ่านและต้องรอคําตอบ 

“ขณะที่วันนี้ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน อะไรคือความเท่าเทียมของสิทธิเด็ก รัฐบาลและหลายพรรคการเมืองต่างหาเสียงกับแรงงาน ทั้งให้คํามั่นสัญญาเกิดปุ๊บรับปุ๊บ สิทธิเท่าเทียมถ้วนหน้า ขอวิงวอนให้รัฐบาลใช้มาตรการช่วยเร่งด่วนให้เป็นของขวัญวันเด็ก ด้วยเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 600 บาท เพื่อฟื้นฟูชีวิตเด็กไทยจากวิกฤตนี้”

ด้าน นิไลมล มนตรีกานนท์ จากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) กล่าวเสริมถึงผลกระทบ จากสถานการณ์โควิด-19 ว่า ครอบครัวเสี่ยงต่อการเป็นคนจนใหม่มากขึ้น เช่น  หากคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งถูกเลิกจ้างหรือไม่มีงานล่วงเวลาทํา ทำให้รายได้ลดลง กระทบต่อค่าใช้จ่าย คนมีลูกส่วนใหญ่มีรายได้น้อย รายได้รวมกันน้อยกว่าแสนบาทต่อปี  หรือเกินกว่าไม่มาก 

“ตอนน้ีโควิด-19 รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา ยิ่งสร้างความตื่นตระหนก ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการต้องซื้ออุปกรณ์ป้องกัน การเดินทางยากลําบาก ไม่กล้านั่งรถโดยสารก็ต้องนั่งแท็กซี่ รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย โอกาสเป็นคนจนใหม่สูง เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเป็นหลักประกันว่า แม้จะถูกลดเงินเดือน ไม่มีงานล่วงเวลาหรือตกงาน ก็ยังมีสวัสดิการดูแลลูกเดือนละ 600 บาท “

ทั้งนี้ สวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (เงินเลี้ยงดูบุตร) เป็นโครงการของรัฐบาลที่เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 มีพัฒนาการตามลำดับ ดังนี้

– ปี 2558 ให้เด็กแรกเกิด คนละ 400 บาท/เดือน ระยะเวลา 1 ปี โดยต้องผ่านเกณฑ์คัดกรองรายได้ครอบครัวไม่เกิน 36,000 บาท/ปี

– ปี 2559 ขยายวงเงินเป็น 600 บาท/เดือน ถึงอายุ 3 ปี 

– ปี 2560 ถึง ปัจจุบัน ขยายช่วงอายุให้เด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี คนละ 600 บาท/เดือน และปรับเกณฑ์คัดกรอง เป็นครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี (ใช้เกณฑ์เดียวกับนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ)

โดยเด็กที่จะได้รับเงินในส่วนนี้ต้องมีสัญชาติไทย พ่อหรือแม่ต้องมีสัญชาติไทย และอยู่ในฐานะครอบครัวที่ยากจนหรือที่เสี่ยงต่อความยากจน โดยผู้มีสิทธิ์ต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม