ชี้ ใช้ระบบโรงพยาบาลสนามเป็นยุทธวิธีสกัดโควิด-19 รมช.สธ. สั่งจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 10 คน เตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามทันที
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อาคารดีลักซ์ ถูกใช้เป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อโควิค-19 จำนวน 308 เตียง โดยวันนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 รายแรกเข้ารักษาตัว หลังจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามแห่งนี้มาล่วงหน้า และเคยเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกเมื่อ โควิด-19 ระบาดรอบแรก ช่วงเดือนมีนาคม 2563
ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีเพียง 2 ประเทศที่ใช้ระบบโรงพยาบาลสนามเข้ามาควบคุมโรค คือ ประเทศจีนกับประเทศไทย ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จและเป็นยุทธวิธีที่สำคัญมาก โดยการระบาดรอบนี้จะระบาดหนักกว่ารอบแรก ความพยายามจำกัดการกระจายเชื้อ โดยดึงกลุ่มคนไข้เข้ารักษาตัวจนหายป่วย แล้วจึงให้กลับบ้าน จะช่วยหยุดการแพร่เชื้อได้ดีกว่าการให้กักตัวอยู่ที่บ้าน
สำหรับการตั้งโรงพยาบาลสนาม มีการดูแลตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะอยู่ในเขตชุมชน ตั้งแต่การเพิ่มระบบฟีดคลอรีนในน้ำ ให้มั่นใจว่าสามารถฆ่าเชื้อได้ รวมทั้งการลดจำนวนบุคลากรด้วยการใช้เทคโนโลยี พูดคุยผ่านกล้องวงจรปิดและคุยผ่าน Line มีแพทย์ประจำตึกเพียง 2 คน ก็สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั้งหมด
โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม จะต้องวัดไข้และวัดออกซิเจนในเลือดด้วยตัวเองทุกวัน ซึ่งมีเครื่องมืออย่างง่าย แต่ที่น่ากังวล คือ คนที่มีอาการน้อย จะมีความเครียดจากปัญหาสังคมไม่ยอมรับ ทำให้ต้องมีจิตแพทย์คอยให้คำปรึกษา นอกจากนั้น คือ การรักษาตามอาการทางคลินิก บางคนไม่ต้องใช้ยา แต่หากคนที่มีอาการแทรกซ้อนอยู่แล้วจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ จะเห็นได้ว่าอัตราการเสียชีวิตจาก โควิด-19 ในประเทศไทยมีน้อยมาก เพราะมีบุคลากรที่พร้อมดูแลเต็มที่
ด้าน สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายกลุ่มก้อน จึงมีนโยบายให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ต้องเตรียมพร้อม ตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะกับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเป็นจำนวนมาก
เช่น จังหวัดปทุมธานี ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 50 คน มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 10 คนขึ้นไป ก็ต้องเตรียมหาที่ทางเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ไว้รองรับเช่นกัน
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หน่วยงานท้องที่ อสม. ต้องทำความเข้าใจให้ความรู้กับชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านและเห็นถึงความจำเป็น ในการจัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อควบคุมโรค โดยหลักการโรงพยาบาลสนามจะรับเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเท่านั้น เพื่อให้โรงพยาบาลหลักมีเตียงเพียงพอในการรับผู้ป่วยหนัก
สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ มีเตียงรองรับผู้ป่วย โควิด-19 จำนวน 308 เตียง ครอบคลุมเขตสุขภาพที่ 4 ประกอบด้วยจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา รวม 8 จังหวัด