ชี้ หลังจบโควิด-19 โลกจะเข้าสู่ยุคใหม่ แนะสร้างภูมิคุ้มกันประเทศเริ่มจากชุมชน รับวิกฤตโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ ในอนาคต
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษา เปิดเผยกับ The Active ถึงทิศทางประเทศไทย หลัง โควิด-19 ว่า จริง ๆ แล้วประเทศไทยและทั่วโลก เจอวิกฤตอยู่แล้วก่อนโควิด-19 จะมา แต่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ เพราะในวิกฤตนั้นมีฝ่ายที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ โดยฝ่ายที่ได้เปรียบมีกำลังมากกว่าที่จะดำรงความไม่ถูกต้องไปเรื่อย ๆ แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลสะเทือนถ้วนหน้าทั่วโลกในทุกมิติ รวมทั้งฝ่ายที่ได้เปรียบด้วย เป็นการกระตุกจิตสำนึกมนุษย์จำนวนมากที่สุด ให้ตื่นรู้ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน การที่คนจำนวนมากตื่นรู้พร้อม ๆ กัน เป็นโอกาสที่สังคมจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เขากล่าวอีกว่า หลังสิ้นสุดการระบาดโควิด-19 จะเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของอารยธรรมมนุษย์ หลังผ่านมาหลายยุคตั้งแต่ ยุคดึกดำบรรพ์ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งเป็นช่วงยุคสมัยใหม่ ใช้วิทยาศาสตร์ในการคิดค้น ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก แต่วิธีคิดผิด รวมถึงการก่อกำเนิดระบบเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าโลกต้องปรับตัว ขณะเดียวกัน มองเป็นโอกาสให้โลกปรับตัวครั้งใหญ่ ที่ผ่านมาโลกเผชิญวิกฤตหลายครั้ง นี่เป็นอีกครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้น จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศเมื่อเกิดวิกฤต นั่นคือการส่งเสริมชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในประเทศเปรียบเสมือนเซลล์ในร่างกาย”
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน แม้จะคิดและพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งระดับโลกจนได้รับรางวัลโนเบล แต่ผลของมันโดยเฉพาะช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำสุด ๆ ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมมีผลตามมาอย่างมหาศาล เป็นวิกฤตการณ์ปัจจุบันที่ไม่สามารถก้าวข้ามด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเดิม
ดังนั้น การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ GDP เป็นเพียงเครื่องวัดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพราะ GDP สูง ไม่ได้หมายถึงความทั่วถึงเป็นธรรม แต่การมีสัมมาชีพหรืออาชีพที่ถูกต้องสุจริตจริตที่ทั่วถึง และวัตถุประสงค์ของระบบเศรษฐกิจใหม่ เป็นการทำอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ในระดับชุมชน
เขากล่าวทิ้งท้ายว่า เส้นทางวิกฤตของการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมาอีกอย่างหนึ่ง คือ แนวทางการพัฒนาพยายามสร้าง พระเจดีย์จากยอด คือ ทำอะไรก็เอาแต่ข้างบน พัฒนาเศรษฐกิจให้มันเติบโตมาก ๆ แล้วจะได้กระเด็นลงข้างล่าง แต่ความจริงแล้วสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ฐานก็คือชุมชนให้แข็งแรง เมื่อฐานแน่น จึงจะสามารถต่อยอดสร้างเจดีย์ขึ้นไปถึงบนยอดได้สำเร็จ