ผู้พัฒนาแอปฯ แจง แยกเป็น 2 Code ยืนยัน ลบข้อมูลละเอียดอ่อน ก่อนส่งมอบ “พุทธิพงษ์” เตรียมชี้แจงปมร้อน บ่ายนี้
วันนี้ (18 ม.ค. 2564) มีการเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กเพจ Code for Public ของกลุ่มผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน หมอชนะ โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีการส่งต่อแอปพลิเคชันหมอชนะ จากกลุ่มอาสาสมัคร ไปสู่การกำกับดูแลจากทางรัฐบาลอย่างเต็มตัว โดยระบุเหตุผลที่ต้องชี้แจงว่า เพื่อความชัดเจนและโปร่งใสในการทำงาน
สรุปการชี้แจงว่า แอปฯ หมอชนะ ได้ถูกส่งต่อให้รัฐบาลควบคุมดูแล 100 % ตั้งแต่วันนี้ โดยทางกลุ่มนักพัฒนาจะขอแก้ไขบัก (bug) หรือ จุดบกพร่องและปัญหาที่เกิดขึ้นกับโปรแกรม เช่น การกินแบตเตอรี่มือถือ การกินดาต้า และอัปเดตแอปฯ เป็นครั้งสุดท้าย ภายในอีก 2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ โค้ดดังกล่าวจะถูกนำขึ้นใน Store หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอนุมัติของภาครัฐ
ส่วน Code ของหมอชนะจะถูกแยกออกเป็น 2 แหล่ง คือ 1. ภายใต้การดูแลของ Code for Public พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น SQUID เพื่อป้องกันความสับสน โดยจะยังคงเป็น Open Source หรือ ซอฟต์แวร์ที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเสรี และจะดูแลโดยกลุ่มผู้พัฒนาในภาคประชาชนต่อไป
ส่วนที่ 2. อยู่ภายใต้การดูแลโดยรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถการันตีได้ว่าทางกลุ่มผู้ดูแลใหม่จะอัปเดตหรือมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากทางรัฐบาล หรือไม่ ทั้งนี้ ทางด้านโครงสร้าง โค้ด SQUID จะเป็นตัวต้นฉบับ ส่วนโค้ดหมอชนะที่ทางภาครัฐรับไปดูแลจะเป็นการ Fork ไปจาก Repository นี้
ผู้พัฒนาแอปฯ ย้ำว่า การส่งต่อให้รัฐบาลนี้ ทางกลุ่มได้คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญเช่นเดิม ดังนั้น ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเช่นเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลทั้งหมด จะถูกลบทิ้งออกจากฐานข้อมูล รวมถึงตัวแอปฯ ได้ปิดฟีเจอร์ยืนยันตัวตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เวอร์ชัน 2.0.1 ทำให้ผู้ใช้ใหม่จะไม่มีวิธีในการใส่เบอร์โทรตัวเองเข้าระบบอีกต่อไป
“พุทธิพงษ์” ให้มั่นใจการบริหารของภาครัฐ เตรียมชี้แจงละเอียดบ่ายนี้
ด้าน พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า การที่แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ได้เปลี่ยนผ่านไปอยู่ในการดูแลของภาครัฐอย่างเต็มตัว จะช่วยทำให้มีประสิทธิภาพการติดตามประวัติการเดินทาง จากเดิมเป็นข้อมูลที่อาสาสมัครต้องค้นหาเอง เป็นการที่ภาครัฐและกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้นำข้อมูลต้นทางที่แม่นยำและครบถ้วนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ระบบที่ถูกพัฒนามาพร้อมอยู่แล้วได้รับการนำมาใช้ในการตรวจสอบประวัติการเดินทางและค้นหาผู้มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อ เพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนกับผู้ถือแอปฯ รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ให้กระบวนการควบคุมการระบาดเกิดความสมบูรณ์ครบวงจร
พร้อมทั้งระบุว่า จากนี้ไปมีความมั่นใจว่าการที่แอปฯ หมอชนะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ จะทำให้เกิดความชัดเจนในการให้ข้อมูลและการสื่อสารที่ทรงพลังของรัฐอย่างเป็นทางการ และจะสามารถตอบคำถามความสงสัย ลดความสับสน เป็นไปด้วยความถูกต้อง คำนึงถึง Privacy ของประชาชนอย่างมีธรรมาภิบาล และทำให้ทุกคนในประเทศมีความสบายใจและมั่นใจที่จะร่วมกันให้ความร่วมมือใช้งานแอปฯ หมอชนะในการต่อสู้วิกฤตนี้ด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ หลังเกิดประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียถึงการถอนตัวของผู้พัฒนาแอปฯ หมอชนะ วันนี้ นายพุทธิพงษ์ จะแถลงปมข้อสงสัยปัญหาแอปฯ หมอชนะ โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ ย้ำ เป็นเพียงมาตรการเสริม
นายแพทย์นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาร่วมทีมพัฒนาแอปฯ หมอชนะในช่วงหนึ่ง ก็ยอมรับว่า แอปฯ ยังมีข้อจำกัด แต่ยืนยันว่า สามารถไว้ใจได้ในเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะทีมพัฒนาใช้วิธีการติดตามตัว หรือ Track & Tracing แบบในต่างประเทศปรับให้เหมาะกับคนไทย
ส่วนเวอร์ชันที่รัฐบาลจะดูแลจากนี้ คาดว่าจะมี 2 ฟีเจอร์ที่จะถูกตัดออกไป คือ แบบสอบถาม และ QR code ที่แสดงสถานะความเสี่ยงโดยใช้ เขียว เหลือง แดง เนื่องจากอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนี้ และยังอาจจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้อีกด้วย
นายแพทย์นวนรรน ย้ำว่า แอปฯ นี้เป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้น และใช้ได้ตามความสมัครใจ ซึ่งการที่แอปฯ จะทำงานได้ดี ต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าต้องมีคนใช้งานปริมาณเยอะ มีความไว้วางใจ เช่น กล้าเปิดบลูทูธ และต้องมีกลไกหลังบ้านระหว่างแอปฯ กับกรมควบคุมโรคเพื่อทำให้การแจ้งเตือนมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุด
“จริง ๆ ก็อยากจะเชิญชวนให้ใช้โดยสมัครใจ ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ในการเตือนได้บ้าง แต่จริง ๆ แล้วประโยชน์ก็ไม่ได้เข้มข้น เพราะส่วนตัวก็ยังมองว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในมาตรการที่ถูกภาครัฐบังคับ ก็ควรเป็นเรื่องที่ควรสมัครใจ ดังนั้น ถ้าใครสบายใจที่จะใช้และไม่อยู่ในเงื่อนไขที่รัฐบังคับ ก็ให้ความมั่นใจได้ระดับหนึ่งในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล”