กสศ. จับมือนักวิจัย-ขนส่งเอกชน ส่งชุดการเรียนรู้แบบ ‘ออฟไลน์’ ช่วยเด็กเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต นำร่อง 5 จังหวัดสีแดงเข้ม ให้เด็กยากจนพิเศษเรียนรู้ต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดงานแถลงข่าว “COVID Slide ผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กไทย กับแนวทางการจัดการปิดโรงเรียน แต่ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้” เพื่อรายงานสถานการณ์ภาวะถดถอยของการเรียนรู้ของเด็กไทย จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงผลการศึกษาปรากฏการณ์ COVID Slide ว่า ได้นำมาจากคำว่า “Summer Slide” ศัพท์วิชาการที่นักการศึกษาทั่วโลก ใช้วิเคราะห์ความถดถอยของการเรียนรู้ในช่วงฤดูร้อนที่นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนาน โดยยกตัวอย่างผลวิจัยของสถาบัน NWEA ที่ประเมินผลกระทบ COVID Slide ในสหรัฐอเมริกา พบว่า การเรียนอยู่ที่บ้านทำให้ความรู้วิชาคณิตศาสตร์หายไปถึงร้อยละ 50 และความรู้ด้านการอ่านลดลงร้อยละ 30 แม้แต่ในกลุ่มนักเรียนเศรษฐานะดี
“การอยู่หน้าจอเป็นเวลานานส่งผลต่อสุขภาพจิต พัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ สอดคล้องกับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการด้านระบบการสอนของสถาบัน MIT พบว่าการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่ไม่ได้มาโรงเรียน ความรู้ที่ถดถอยมาจากการขาดประสบการณ์เข้าสังคม การไม่ได้รับอาหารตามหลักโภชนาการ บริการทางสังคมต่าง ๆ หรือการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย”
เขาวิเคราะห์ต่อว่า แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีผลการศึกษาติดตามผลกระทบจาก COVID Slide ออกมา แต่จากแนวโน้มที่มีผลการศึกษาในระดับนานาชาติข้างต้น ก็พอจะคาดการณ์ได้ถึงผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.) ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา 2.) ภาวะถดถอยของพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กยากจนด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ ที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองและชนบท จะยิ่งขยายกว้างขึ้นมากกว่า 2 ปีการศึกษา ในระยะยาวอาจส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้วงจรความยากจนข้ามชั่วคนยังคงเกิดขึ้นไปสู่คนรุ่นต่อไป
ด้าน ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึง สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย ระบุ ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นโจทย์ใหญ่อยู่เดิม โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เด็กจากกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุดมีแนวโน้มดีขึ้น ประเมินจากสัดส่วนน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลง อัตราขาดเรียนลดลง ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยเฉพาะครูที่ร่วมกันค้นหาตัวเด็กพร้อมกับมีระบบสารสนเทศช่วยสนับสนุนการคัดกรอง
อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องปิดลงตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 คิดเป็นร้อยละ 40 ของปีการศึกษาที่นักเรียนต้องเรียนจากบ้าน พบว่ามีเด็กยากจน และยากจนพิเศษในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด จำนวน 143,507 คน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งต้องออกไปทำงานหารายได้ บางแห่งมีข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี แม้ว่าต้นเดือนมกราคม กสศ. จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ตชด. อปท. ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค เพื่อป้องกันนักเรียนยากจนพิเศษ 900,000 คน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา
“สิ่งน่ากังวลคือความเสี่ยงที่เด็กจะมีพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะถดถอย จึงต้องใช้ 3 เดือนสุดท้ายของปีการศึกษาหาเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID Slide ให้พบ มาตรการที่ควรตั้งรับคือ 1.) เมื่อเปิดการสอนในวันที่ 1 ก.พ. ครูควรตรวจพัฒนาการของร่างกายและการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลว่าถดถอยลงหรือไม่ 2.) การจัดการสอนเสริม หรือ After school programme สำหรับผู้เรียนที่มีพัฒนาการเรียนรู้ถอดถอยก่อนการเลื่อนชั้น 3.) การเฝ้าระวังรอยต่อการศึกษาในทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ ป.1 ม.1 ม.4/ปวช. โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนยากจนในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนรองรับ วิกฤตนี้สามารถพลิกเป็นโอกาสปฏิรูประบบการศึกษา จากเดิมที่เด็กต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปหาการศึกษา เปลี่ยนเป็นการศึกษาไปหาเด็กทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและยั่งยืน”
ภายในงาน กสศ. ได้เปิดตัวนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ ชื่อว่า “Black Box สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในศตวรรษที่ 21” โดยร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี พัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ให้มีการเรียนรู้ต่อไปได้ในช่วงเวลาที่โรงเรียนบางแห่งต้องปิดชั่วคราว
โดยชุดการเรียนรู้ในกล่องดำได้ออกแบบเป็น บทเรียน ‘ออฟไลน์’ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก มีจุดเด่นอยู่ที่บทเรียนที่เด็กสามารถเลือกเวลาเรียนเองได้ เลือกเรียนตามความสนใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ โดยชุดบทเรียนได้บูรณาการจากหมวดวิชาต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิต เชื่อมโยงความสนใจจากเรื่องราวรอบตัว ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว ไปจนถึงพื้นที่ชุมชนที่อาศัย ภายใต้ 4 หมวดวิชาที่ครอบคลุมพื้นฐานการเรียนรู้สำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สังคมและมนุษยชน วิทยาการวิจัย และสัมมาชีพศึกษา
ทั้งนี้ ได้มีการส่งมอบ กล่องการเรียนรู้ Black Box ให้กับเด็กยากจนพิเศษในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายในระบบการศึกษา ที่พบว่ามีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้มากที่สุด ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี อยุธยา เพชรบุรี และกาญจนบุรี ให้กับทางเคอรี่ เอ็กซ์เพรส นำส่งให้ถึงมือเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบทางการศึกษากลุ่มแรก จำนวน 500 กล่อง