ร่วมหาทางออก ให้ “เด็กชนะ”

ภาคประชาสังคม หวั่น โควิด-19 ซ้ำเติมเด็กเล็กและครอบครัว เปิดข้อมูลเด็ก 1.8 แสนคน ได้รับผลกระทบทันที แนะ เยียวยา-อุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 17  ม.ค. 2564 ในการเสวนาออนไลน์ หาทางออก เพื่ออนาคตที่เป็นธรรม และยั่งยืน ต้องให้ “เด็กชนะ” โดยมี นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ตัวแทนพรรคการเมือง และสื่อมวลชน ร่วมหาทางออกจากผลกระทบซ้ำเติมสถานการณ์ โควิด-19 ที่ส่งผลให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รายได้ลดลง

มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลต้องปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย 3,950 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งศูนย์เด็กเล็กอีกหลายร้อยแห่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ และที่ดำเนินงานโดยองค์กรภาคเอกชน ทำให้เด็กกว่า 180,000 คน ได้รับผลกระทบทันที 

แต่เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับโภชนาการ ต้องการนม อาหาร การเรียนรู้ และผู้ดูแล เมื่อสถานการณ์การระบาดรอบใหม่มา ส่งผลให้การหารายได้ของพ่อแม่ที่เป็นลูกจ้างรายวัน ถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะ แรงงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีลูกเล็ก เมื่อผู้ปกครองไปทำงานไม่ได้ ทำให้ขาดรายได้ มีความเสี่ยงต่อโภชนาการที่ลดลง ก็รับประทานอาหารไม่ครบทุกมื้อ หรืออาจเป็นอาหารที่ไม่เหมาะกับวัยของเด็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก

อีกปัญหาที่น่ากังวล คือ เด็กมีความเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงจากภาวะเครียดของครอบครัว พบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 รอบแรก เด็กขาดพัฒนาการเรียนรู้ ร้อยละ 20 – 30 ในเด็กยากจนจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเด็กอื่น ๆ 4 เท่า 

ด้วยปัญหานี้ ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ สะท้อนว่ายังไม่เห็นมาตรการที่รัฐออกมา เกี่ยวกับการเยียวยาของเด็กเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตต่อคุณภาพของเด็กเล็กด้วยซ้ำไป

“ซึ่งขณะนี้เด็กกว่า 2 แสนคน ในศูนย์เด็กเล็กควรได้รับการติดตาม ให้เด็กได้รับโภชนาการ ได้นมและรับอาหารที่เพียงพอกับวัยของเด็ก รวมถึงเด็กควรได้รับโอกาสในการเล่นและเรียนรู้ ซึ่งมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ก็ทำอาหารเลี้ยงเด็กกว่า 300 คน ซึ่งเชื่อว่าทุกวัน สมองเด็กต้องได้รับการพัฒนา ผ่านโภชนาการที่ครบถ้วนที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ที่สำคัญ คือ หากจะเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ คือ เรื่องของเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า จำเป็นมาก”

เธอระบุอีกว่า หากกลไกลหลายอย่างไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ ก็ควรจะต้องเป็นรัฐเองที่เข้าไปช่วย เพราะ วิกฤตเด็กเท่ากับวิกฤตชาติ ในอนาคตชีวิตของเด็กเหล่านี้ จะต้องโตไปข้างหน้าหากในช่วงเด็กเขาไม่ได้รับการพัฒนาแล้ว ก็จะมีปัญหา ส่งผลในการพัฒนา และต่อเติมได้ยากในช่วงวัยอื่น ๆ ด้วย 

สอดคล้องกับ เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ที่มองว่านโยบาย หรือมาตรการที่ออกมาแต่ละช่วงของรัฐบาล ยังไม่ได้แตะไปในส่วนของเด็กเลย ทั้งเด็กเล็กหรือเด็กโต อีกทั้งยังพูดถึงสถานการณ์ การที่ผู้ปกครองเอาเด็กไปฝากไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วย ว่าอาจจะส่งผลให้เด็กที่นำไปฝากไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร การที่เด็กอาจถูกปล่อยให้อยู่กับโทรศัพท์ มองว่าอาจจะเกิดประเด็นที่ว่าการส่งเสริมพัฒนาการที่ขาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบไปยังอารณ์และทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้อีกเช่นกัน 

อภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สะท้อนในมุมมองของผู้ปกครองที่เป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤตโควิด-19 ทั้ง 2 รอบ กว่าวว่า จากที่มีการเปิดศนย์ร้องทุกข์ตั้งแต่ มี.ค. – ส.ค. 2563 พบว่าคนที่ตกงานในระลอกแรกประมาณ 1.8  ล้านคน ช่วงนั้นมีการปิดกิจการกว่า 4,500 แห่ง จาก มิ.ย. – ธ.ค. 2563 ก็มีเพิ่มขึ้นอีก 10,000 แห่ง พนักงานแสนกว่าคนที่ตกงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ที่เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น กลุ่มคนตั้งครรภ์ ที่ถูกเลิกจ้างนับร้อยกว่าคน ซึ่งนี่คือสิ่งที่ส่งผลกระทบไปยังสภาพของครอบครัวและเด็กเอง

“เงินเยียวยาถ้วนหน้าทุกอาชีพ ควรจะได้รวมถึงเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า มองว่ามันก็ควรจะถ้วนหน้าจริง ๆ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดน้อยลงจากหลักล้าน หลักแสนตอนนี้ เหลืออยู่ที่หลักหมื่น ปัจจุบันวัยรุ่นหรือแรงงาน แค่คิดจะท้องก็ผิดแล้ว การเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง การเยียวยาที่ใช้เวลานาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ หรือรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแม่และเด็กก็ใช้ได้ไม่จริง ในขณะที่ปัจจุบัน เกิดปัญหากับสิทธิของมารดาเยอะมาก หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ยังใช้ได้ไม่ทั่วถึง ยังคงหย่อนยานในการใช้กับเด็กและผู้หญิง”

ด้าน เสาวลักษณ์ ทองก๊วย เครือข่ายสตรีพิการ ก็ได้สะท้อนถึงโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดู แม้จะมีโครงการนี้ เด็กแรกเกิดซึ่งเริ่มปี 2550 โดยให้เงิน 400 บาท/คน/เดือน ในปีแรก ต่อมาในปี 2559 ขยายเป็นแรกเกิดถึง 3 ปี และเพิ่มวงเงินจาก 400 บาทเป็น 600 บาท/คน/เดือน ปี 2561 ให้กับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมและขยาย ฐานรายได้จากเดิมที่กำหนดไว้ 36,000 บาท ต่อปี/ครัวเรือน มาใช้ฐานรายได้ที่ 100,000 บาท/ปี/ครัวเรือน ซึ่งแม้จะมีความก้าวหน้า ในการให้สวัสดิการ แต่ยังคงเป็นการให้แบบจำเพาะเจาะจง ซึ่งมองว่าไม่มีทางที่กลุ่มคนพิการหรือกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ จะเข้าถึง เพราะจากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าตัวเลขของเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี ตกหล่น 

“กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจที่จะต้องทำรายงานการดำเนินงานที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก การดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ รวมถึงการดำเนินงานตามแผนพัฒนาที่ยั่งยืนหมวดที่ 1 ในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และความยากจน ฉะนั้นถ้าเราสามารถผลักดันให้ ครม. อนุมันติให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าได้โดยเร็วที่สุด จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของ รัฐบาลได้ ”

เธอระบุอีกว่า การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เราเห็นว่าหลักประกันทางสังคม ไทยอ่อนแอ เพราะนอกจากระบบสาธารณสุขที่ถือว่าจัดการได้ในระดับหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน ด้านสวัสดิการทางสังคมเองนั้นยังไม่ครอบคลุม สะท้อนให้เห็นภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า ปี 2564 ผู้เข้าร่วมเสวนา ชี้ ต้องเร่งให้เข้า ครม. ให้ได้ในช่วงเดือนนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคมนี้ และขอให้มี มติ ครม. พิเศษโดยใช้งบประมาณ ปี 2564 ไม่เช่นนั้น เกรงว่าจะไม่ทันต่อการเยียวยาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของเด็กเล็กและครอบครัวได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ