เปิดข้อหาฝ่ายค้าน ไม่ไว้วางใจ 10 รมต.

ไร้ประสิทธิภาพคุมโควิด-19 เอื้อประโยชน์พวกพ้อง เปิดช่องทุจริต “มงคลกิตติ์ – มิ่งขวัญ” ร่วมอภิปรายด้วย

เมื่อช่วงเช้า (25 ม.ค. 2564) สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน นำรายชื่อ 208 ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนอกจาก 6 พรรคการเมืองฝ่ายค้านแล้ว ยังมีสมาชิกเพิ่มอีก 1 คน คือ “มงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์” พรรคไทยศรีวิไลย์  ประกาศร่วมเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ รวมถึง “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ร่วมยื่นญัตติในครั้งนี้ด้วย

พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลาการอภิปราย ที่อดีตเคยมีบทเรียนที่ทำให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ต้องไปอภิปรายกันนอกสภา และแม้การอภิปรายในครั้งนี้จะล้มรัฐบาลในสภาไม่ได้ แต่เชื่อมั่นว่าข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะนำไปสู่การยื่นเอาผิดตามกฎหมาย โดย 10 รัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปราย มีดังนี้

1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภาวะผู้นำ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ท่ามกลางภาวะที่ประชาชนดำรงชีวิตอย่างยากลำบากจากโรคระบาดโควิด-19

2. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จากการทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้ตนเอง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง

3. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากการไร้ความสามารถและไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดในรอบสองอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ปกปิด อำพรางการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต

4. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากการไร้ประสิทธิภาพ ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ พูดอย่างทำอย่าง แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ เข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเอง ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต

5. พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จากการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อวางแผนในการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง

6. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ไร้ประสิทธิภาพ ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำในลักษณะกดขี่ข่มเหงข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้บุคคซึ่งเป็นพวกพ้องข้าสู่ตำแหน่ง

7. สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากการปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบ จนเกิดแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก สร้างผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19

8. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิดำเนินงานในกิจการของรัฐ โดยไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ

9. นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากการไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง

10. ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากการกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ปกปิดข้อมูลความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในการยื่นหรือแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลกร่างเถื่อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว