‘อนุทิน’ ​เปิดช่องฉีดวัคซีน​โควิด-19​ แรงงาน​ข้ามชาติ

ถามนายจ้างแรงงานข้ามชาติพร้อมช่วยหรือไม่​ ด้าน​ “หมอโสภณ” ชี้​ วัคซีนยังมีจำกัด ต้องให้ลำดับความสำคัญทั้งพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงไปพร้อมกัน​ ไม่สามารถทุ่มที่สมุทรสาครได้ทั้งหมด

เมื่อวันที่ 28​ ม.ค.​ 2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี การประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดหาและการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19​ อนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกรัฐมนตรี​ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข​ กล่าวถึงกรณีแนวคิดการฉีดวัคซีนกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย​ โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครว่า หากมีช่องทางใดให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนก็เห็นด้วย​ หากจะทำให้คนไทยทั้งประเทศปลอดภัยด้วยกันทั้งหมด ส่วนจะใช้เงินจากส่วนไหนไปจัดซื้อวัคซีนให้เฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ​ ให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิด​ แต่กลุ่มนายจ้างจะสามารถช่วยส่วนนี้ได้ไหม เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

สำหรับนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนให้กับประชากรภายในประเทศ รมว.สธ. ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ตามความสมัครใจ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อได้ นักลงทุน นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ ซึ่งคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติเห็นชอบลำดับกลุ่มเป้าหมายตามที่คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกำหนดแผนการให้วัคซีนฯ กำหนดไว้ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน, ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

ระยะที่ 2 ช่วงที่มีวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่นอกเหนือจากด่านหน้าเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสซื้อโควิด 19 ผู้ประกอบอาชีพที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก และผู้ที่มีโอกาสสัมผัสผู้เดินทางระหว่างประเทศ และ ระยะที่ 3 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร และฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ฉีดให้กับประชาชนทั่วไป

ด้าน นายแพทย์โสภณ​ เมฆธน​ ประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด 19 ​ เปิดเผย​ กับ​ The​ Active​ ว่า กรณีวัคซีนหากดูในเรื่องของผลการศึกษา ทั้งในประเทศอังกฤษและบราซิล​ จะเน้นดูในเรื่องของการป้องกันไม่ให้เกิดอาการ​ป่วยรุนแรง โดยวิธีการทดลองฉีดวัคซีนเป็น 2 กลุ่ม​ หนึ่ง เป็นยาหล่อ​ สอง เป็นวัคซีน​จริง​แล้ว​ แล้วดูว่ามีอาการไหม กลุ่มฉีดวัคซีนก็ป่วยน้อยกว่า แต่นักวิจัยไม่ได้ไปดูในเรื่องของการลดการแพร่โรค​ เพราะเร่งรัดใช้ไม่ให้ป่วย นี่เป็นหลักของผู้เชี่ยวชาญที่เน้นจุดนี้ เพราะฉะนั้น​ เมื่อวัคซีนล็อตแรกมาถึง จึงเน้นไปที่ กลุ่ม​แรก​ บุคลากรที่อยู่ด่านหน้าไปรักษาแล้วต้องอย่าป่วย เพื่อให้ระบบมันเดินหน้าไปได้​ กลุ่มที่ 2 เป็นเรื่องของบุคลากรส่วนอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วย เช่น อสม. อยู่ที่ด่านชายแดน ไปจนถึงผู้ที่ทำหน้าที่ในพื้นที่สมุทรสาครก็เป็นส่วนหนึ่ง

เมื่อถามถึงแนวทางตัดวงจรการระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครว่า ควรจัดลำดับความสำคัญให้ได้รับวัคซีนก่อน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ​ที่ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เป็นแห่งแรกทั้งหมดดีหรือไม่ นายแพทย์โสภณ​ บอกว่า​ ทางวิชาการอธิบายว่าไม่ควร​ เพราะวัคซีน​โควิด 19​ ไม่ได้ช่วยลดการแพร่โรค​ แต่ก็อาจมีแนวคิดจากทั้งนักวิชา​การ​ที่เห็นด้วย​ก็น่าจะมีผล ระงับการระบาดเนื่องจากมุ่งเน้นที่แหล่งเกิดโรคของประเทศไทย

“อันนี้ก็ขึ้นกับว่าใครจะเชื่อทางไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าวัคซีนมาเยอะ ๆ มันก็ดำเนินการได้​ แต่ในขณะที่วัคซีนมาน้อย ต้องมี priority ในการเรียงลำดับความสำคัญ​ ถ้าเกิดทุ่มหมดที่สมุทรสาคร​ เกิดโรงพยาบาลอื่นที่รักษาคนไข้อยู่ใน กทม.​ นี่คือสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะฉะนั้น​ เราจึงต้องดูทั้งกลุ่มเสี่ยงคนที่ได้รับการปกป้อง​ แล้วก็พื้นที่​ เพราะถ้าวัคซีนมาน้อย ไปทุ่มที่สมุทรสาครทั้งหมด คนดูแลคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ​ ทำอย่างไร​ จะตอบเขาอย่างไร”

นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาที่สมุทรสาครตอนนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข​ลงมาบัญชาการเอง โรงพยาบาลสนามยังจำเป็น​ และยังจำเป็นต้องมีการค้นหาผู้ป่วย ต้อง isolation หรือแยกคนที่ป่วยออกมา​ นี่คือยุทธศาสตร์​ ที่ดำเนินการอยู่

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แผนการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศไทย ทั้งแรงงานข้ามชาติสัญชาติต่าง ๆ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงเรื่องงบประมาณเช่นเดียวกัน เพราะกรณีคนไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพตามสิทธิอยู่แล้ว ส่วนแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายนั้น ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีงบประมาณจากประกันสังคม ประกันสุขภาพรองรับอยู่ แต่ที่ยังมีปัญหาอยู่ คือ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรคที่ต้องดูแล อาจต้องของบประมาณกลางเพิ่ม แต่เรื่องนี้คิดว่า ควรต้องให้นายจ้างเป็นคนรับผิดชอบหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS