‘เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ’ ชี้ต้องเดินหน้าผลักดันแก้ปัญหาลักลอบค้าแรงงานผิดกฎหมาย ยอมรับ อัตราการคลอดในแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นจริง เสนอซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่าย 365 บาท คุ้มครองเด็ก ด้าน สธ. ชี้ รายได้รักษาแรงงานข้ามชาติสูงกว่ารายจ่าย รพ.ชายแดนหลายแห่งเงินบำรุงติดลบ พร้อมหาโมเดลดูแลสุขภาพครอบคลุมทุกคน
จบลงไปแล้วสำหรับ ซีรีส์ ‘ทิชา’ ทางช่อง One31 โดยซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงการแสดงที่ยอดเยี่ยมของเหล่านักแสดงเท่านั้น แต่ซีรีส์ ทิชา ยังช่วยสร้างกระแสให้สังคมหันมาสนใจปัญหาการลักลอบค้าแรงงานผิดกฎหมายอย่างลึกซึ้งอีกด้วย
อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ในฐานะที่ปรึกษาบทโทรทัศน์ของซีรีส์ ทิชา บอกกับ The Active ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ และการโยกย้ายถิ่นฐาน ว่า ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการสะท้อนปัญหาเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน และตั้งคำถามสำคัญต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยหวังให้ผู้ชมตระหนัก และผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปพัฒนาการแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป
ในกระบวนการสร้างบท ทีมงานได้เข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์จริง เช่น ขั้นตอนการขอเอกสาร, การปลอมแปลงเอกสาร, การถูกละเมิดสิทธิ์จากนายจ้าง รวมถึง การทุจริตของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดถูกนำเสนอในซีรีส์อย่างสมจริง
สำหรับกรณีที่ตัวละครในเรื่อง “หายตัวไป” ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม โดยเฉพาะในกรณีของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ทำให้การติดตามหรือระบุตัวตนทำได้ยาก อดิศร เสริมว่า ผู้สร้างซีรีส์อาจนำโครงเรื่องมาจากข่าวจริงที่เคยปรากฏในสังคมเพื่อสร้างความสมจริง และสะท้อนปัญหาที่ซับซ้อนนี้ออกมาได้อย่างทรงพลัง
ดรามาคนข้ามชาติคลอดลูกในไทย
กรณีเพจ Drama-addict ตีแผ่ปัญหาคนไข้ต่างด้าว ข้ามแดนเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลฟรีในโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะกรณีหญิงชาวเมียนมากว่า 100 คน ที่ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อคลอดลูกในไทย ส่งผลให้โรงพยาบาลบางแห่งเริ่มรับไม่ไหว และเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาโดยด่วนนั้น ประเด็นนี้ อดิศร ให้ความเห็นว่า ปัญหานี้มี 2 ประเด็นสำคัญ
1. อัตราการคลอดที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติในวัยทำงานประมาณ 3 ล้านคน การที่เด็กเกิดจากแรงงานข้ามชาติในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติ และเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเกิดของคนไทยที่ลดลง เนื่องจากประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ย่อมทำให้จำนวนการคลอดของกลุ่มแรงงานข้ามชาติเด่นชัดขึ้น
2. ความเข้าใจผิดเรื่องการใช้สิทธิ์รักษาพยาบาล
ข้อมูลจากเพจ Drama-addict ระบุว่า แม้แม่แรงงานข้ามชาติจะจ่ายเงินค่าบริการคลอดตามจริงและไม่ได้ใช้สิทธิ์ฟรี แต่ลูกที่เกิดในไทยจะได้รับสิทธิ์รักษาพยาบาลภายใต้กองทุนผู้มีสถานะทางสิทธิ์ (กองทุน ท.99) ซึ่งเป็นกองทุนที่ดูแลกลุ่มคนที่เคยมีสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่ถูกจำกัดให้เฉพาะคนไทยหลังการตีความกฎหมายใหม่ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดในไทยและได้รับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองจากโรงพยาบาลอยู่แล้ว จึงไม่มีโอกาสที่เด็กจะเข้าสู่ระบบโดยไม่มีการตรวจสอบ
อดิศร จึงเสนอว่า ควรปรับปรุงระบบประกันสุขภาพสำหรับเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีสัญชาติไทย เช่น การให้ซื้อประกันสุขภาพราคาประหยัด (365 บาทต่อปี) เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพเด็กเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงด้านโรคติดต่อ แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาระยะยาวผ่านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ
ส่วน ประเด็นนายหน้าหรือกระบวนการหักหัวคิว อดิศร ระบุว่า โรงพยาบาลรัฐไม่น่าจะเสี่ยงทำเรื่องนี้ โดยกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถจ่ายค่าคลอดได้ โรงพยาบาลจะใช้กองทุนอนุเคราะห์ช่วยเหลือเป็นกรณีไป
อดิศร ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมทุกคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งพัฒนาโมเดลที่แรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมในระบบผ่านการร่วมจ่าย
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขกำลังพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการด้านสาธารณสุขสำหรับคนไร้สัญชาติ ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่ครอบคลุม ไม่เพียงแต่แรงงานข้ามชาติจากเมียนมา ลาว และ กัมพูชา แต่ยังรวมถึงกลุ่มที่ถือวีซ่าผู้สูงอายุหรือเกษียณอายุ ที่ส่วนใหญ่ใช้บริการภาคเอกชน และไม่ได้อยู่ในระบบสาธารณสุขของรัฐ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีโรงพยาบาลในสังกัดดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีสิทธิ์รักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งบางรายไม่ได้ชำระค่ารักษา ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายค้างชำระหลายพันล้านบาท
“ส่วนใหญ่ผู้ป่วยต่างชาติที่มารักษามักชำระค่าบริการเอง ทำให้โรงพยาบาลมีรายรับมากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชายแดนที่รายงานว่ากรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทำคลอดหญิงต่างชาติ ได้มีการชำระค่ารักษาเรียบร้อย แต่เด็กที่คลอดก่อนกำหนดต้องได้รับการดูแลในห้อง ICU ตามระเบียบที่ให้สิทธิ์เด็กเกิดในไทยได้รับการรักษาฟรี”
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
สำหรับประเด็นเรื่องนายหน้าพาคนมารักษาโดยไม่ชำระเงิน นพ.โอภาส ระบุว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และการเสนอให้เก็บเงินก่อนรักษาอาจขัดต่อหลักการที่เน้นการรักษาผู้ป่วยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้จากการรักษาผู้ป่วยต่างชาติยังคงสูงกว่ารายจ่าย โดยโรงพยาบาลมีการคิดค่าบริการในอัตราสำหรับชาวต่างชาติ และสามารถเฉลี่ยรายรับกับกลุ่มผู้ป่วยยากไร้ได้อย่างเหมาะสม
The Active ตรวจสอบข้อมูลทางการเงินในส่วนของ เงินบำรุงคงเหลือ ของ 5 โรงพยาบาลประจำอำเภอที่อยู่ติดชายแดน ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ณ วันที่ 15 ก.ค. 2567 จ.ตาก พบว่า
- โรงพยาบาลแม่สอด 245,194,859.11 บาท
- โรงพยาบาลแม่ระมาด -20,376,055.59 บาท
- โรงพยาบาลท่าสอง -24,333,627.33 บาท
- โรงพยาบาลพบพระ 9,206,082.56 บาท
- โรงพยาบาลอุ้มผาง -42,290,905.87 บาท
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ยืนยันว่า โรงพยาบาลชายแดนมีรายจ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวจริง แต่ไม่สามารถยืนยันตัวเลขดังกล่าว ส่วน “กองทุน ท.99” เป็นสิทธิ์เฉพาะกลุ่มที่ได้รับอนุมัติงบประมาณปีละ 2-3 พันล้านบาท สำหรับดูแลคนที่รอพิสูจน์สถานะและสัญชาติ ซึ่งคนใหม่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้
กรณีเด็กที่เกิดในไทยจะได้รับเลขประจำตัว 13 หลักตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลแบบคนไทย เนื่องจากระบบฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยและ สปสช. มีการเชื่อมโยงกัน ยืนยันว่าเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยจะไม่มีสิทธิบัตรทอง แม้มีนายหน้าพามาคลอดและแจ้งเกิดในไทยก็ตาม ทั้งนี้ หลักการดูแลผู้ป่วยต่างด้าวยังยึดหลักมนุษยธรรมและการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลเองในกรณีที่สามารถจ่ายได้