พบตายแล้ว 3 คน ผู้ป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ ฝ่ายความมั่นคงไทย ขอประชาชนสองฝั่งงดเดินทาง ไปมาหาสู่กัน 1 เดือน เผย รพ.แม่ระมาด ประสานจัดส่งยา เวชภัณฑ์ ช่วย รพ.ในเมียนมา ป้องกันควบคุมโรค
วันนี้ (22 ธ.ค. 67) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และ อสม. หมู่บ้านวังผา หมู่ 4 ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก กำชับแผนการเฝ้าระวังการลักลอบข้ามแดน เร่งชี้แจงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน ไลน์ ของชุมชน และระบบเสียงตามสาย ให้ชาวบ้านช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้ชาวเมียนมาเข้ามาในหมู่บ้านโดยผิดกฏหมาย และแจ้งให้ประชาชนฝั่งไทยที่มีญาติฝั่งเมียนมา ห้ามไม่ให้ข้ามเข้ามา หากต้องการยาก็จะให้ส่งไปให้เท่านั้น หลังพบการระบาดของอหิวาตกโรค ในพื้นที่เมืองชเวโก๊กโก๋ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา บริเวณตรงข้ามบ้านวังผา
ขณะที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งรับผิดชอบชายแดนไทย-เมียนมา ขอให้ประชาชนทั้งสองฝั่ง งดการเดินทางผ่านช่องทาง ท่าข้าม และ ช่องทางธรรมชาติ เป็นเวลา 1 เดือน หรือ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการท่าข้าม ให้เพิ่มความเข้มงวดการรักษาสุขอนามัยของผู้ขับขี่รถขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
รพ.ชเวโก๊กโก๋ ย้ำ ยังมีรับมือระบาด ‘อหิวาต์’ ได้
สำหรับสถานการณ์ระบาดของอหิวาตกโรคในพื้นที่เมืองชเวโก๊กโก๋ มีรายงานว่า ผู้ป่วยอุจจาระร่วงอย่างแรงถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชเวโก๊กโก๋มีจำนวนกว่า 300 คน อาการรุนแรง 56 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน โดยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น แม้โรงพยาบาลชเวโก๊กโก๋ แจ้งว่า ยังมีความสามารถพอรับมือโรคระบาดครั้งนี้ได้ แต่ได้ประสานขอการสนับสนุนด้านการแพทย์มายังโรงพยาบาลแม่ระมาด ขอรับการสนับสนุนยา และ เวชภัณฑ์ เพื่อรักษาผู้ป่วย และป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งทางโรงพยาบาลแม่ระมาดได้ส่งมอบยา และ เวชภัณฑ์ ไปบางส่วนแล้ว
ขณะที่ นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคลงพื้นที่อำเภอแม่ระมาด เตรียมความพร้อมป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรค แม้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยัน แต่ให้เฝ้าระวังผู้ป่วยถ่ายเหลวที่มีอาการรุนแรง เก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจ พร้อมสำรองยาและเวชภัณฑ์รักษาโรคให้เพียงพอ หากเกิดการแพร่ระบาดในไทย
ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์ ถ้าในพื้นที่ระบาดไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่ดีพอ คาดว่าการระบาดน่าจะมีต่อเนื่องอีกสักระยะ ซึ่งอาจจะมีผู้ป่วยข้ามมาฝั่งไทยได้ จึงกำชับให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้นตลอดแนวชายแดน และเน้นย้ำ โรงเรียนที่มีเด็กฝั่งเมียนมาข้ามมาเรียนเรื่อง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หากมีอาการอุจจาระร่วงให้รีบพบแพทย์
สธ. แจงดรามา ‘แรงงานข้ามชาติ’ เข้ารักษาพยาบาลในไทยฟรี มี 3 กลุ่ม
ส่วนกระแสดรามากรณีมีการโพสต์ข้อความ ว่าผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านแห่คลอดลูก และใช้สิทธิรักษาฟรี ในสถานบริการสาธารณะตามแนวชายแดน ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลจะกระทบสิทธิการรักษาของคนไทย นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ระบบสาธารณสุขของไทยปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการดูแลรักษาทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ เบื้องต้นมีการจัดการสิทธิสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย 3 ส่วน ได้แก่
- บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิหรือบุคคลไร้รัฐ ซึ่งเป็นบุคคลที่กำลังดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไทย และได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก จากกระทรวงมหาดไทย จะมีสิทธิใช้กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (ท.99) ซึ่งรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนกับกองทุน 723,603 คน
- แรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน นายจ้างจะส่งเข้าประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ การรักษาพยาบาล
- กองทุนประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ หรือการซื้อประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ สัญชาติลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยอายุความคุ้มครองจะแตกต่างกันไปตามค่าประกันสุขภาพ
“หากไม่อยู่ใน 3 ข้อ จะต้องชำระค่าบริการเอง แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่สามารถชำระค่าบริการได้ อาจขอความอนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะพิจารณาตามหลักมนุษยธรรม และจะมีงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรนานาชาติให้การสนับสนุนส่วนหนึ่ง”
นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์