ศาลยุติธรรมรับฟ้องคดี บ.ทีพีไอฯ

ออกเอกสารสิทธิโครงการนิคมฯจะนะ ทับซ้อนที่ดินชาวบ้าน เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง เอาผิดเจ้าหน้าที่

ศาลจังหวัดนาทวี มีคำสั่ง (1 ก.พ. 2564) รับคำฟ้องกรณีที่ชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา 5 คน ยื่นฟ้อง บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนเอกสารสิทธิ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3ก ที่ออกทับที่ดินที่ทำกินมาก่อนการออกเอกสารสิทธิดังกล่าว

โดยเอกสารคำฟ้องระบุว่า กรณีนี้เกิดจากเมื่อประมาณกลางปี 2563 บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินซึ่งถือเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3ก โดยในวันที่ 27 มิ.ย. 2563 ตัวแทนของบริษัทได้นำเจ้าหน้าที่เดินสำรวจเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อออกโฉนดแทน น.ส.3ก เมื่อไปถึงที่ดินซึ่งมีชาวบ้านครอบครองอยู่ โดยมีชาวบ้านอย่างน้อย 5 ราย ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าถือครองที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอด บางรายถือครองต่อจากปู่มาสู่บิดาแล้วมาสู่ตน บางรายถือครองตกทอดจากผู้ครอบครองเดิมด้วยการซื้อขาย และแต่ละแปลงได้ถือครองมาก่อนหลายสิบปี

ต่อมา เมื่อประมาณวันที่ 9 ธ.ค. 2563 เจ้าพนักงานที่ดินได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวว่า เจ้าพนักงานที่ดินได้เปรียบเทียบแล้วเห็นว่า บริษัทฯ มีสิทธิดีกว่าเนื่องจากถือเอกสารสิทธิ หากไม่เห็นด้วยจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอให้ศาลพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ หรือต่อศาลปกครองกรณีเห็นว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอน โดยต้องฟ้องภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับหนังสือดังกล่าว มิฉะนั้นจะออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัท

กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจึงได้ปรึกษากับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และทีมทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ โดยจากการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ เพื่อเตรียมฟ้องคดี พบว่า ที่ดินตาม น.ส.3ก เลขที่ 437 ทับที่ดินของชาวบ้าน 2 ราย ที่ดินตาม น.ส.3ก เลขที่ 438 ทับที่ดินของชาวบ้าน 5 ราย และที่ดินตาม น.ส.3ก เลขที่ 439 ทับที่ดินของชาวบ้าน 2 ราย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่เศษ

โดยมีหนึ่งรายที่เอกสารสิทธิทับที่ดินทั้ง 3 แปลง และสองรายที่เอกสารสิทธิทับอยู่ 2 แปลง และอีกสองรายที่มีเอกสารสิทธิทับอยู่ 1 แปลง ที่ดินทั้ง 3 แปลงตามเอกสารดังกล่าว ออกเอกสาร น.ส.3ก เมื่อปี พ.ศ.2518 ส่วนใหญ่ได้โอนขายเปลี่ยนมือในปีถัดมา และท้ายที่สุดมีการขายให้แก่บริษัท ทีพีไอฯ ในวันที่ 17 ธ.ค. 2561 ซึ่งทั้ง 3 แปลงที่มีการออกเอกสารสิทธินี้ กลับไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ ก่อนการออกเอกสารสิทธิทั้งสิ้น มีเพียงการอ้างจากการเดินสำรวจเท่านั้น

จากการตรวจสอบเอกสารพบว่า บริษัท ทีพีไอฯ อ้างว่า หลังจากได้ซื้อที่ดินก็ได้ทำการปลูกกระถินเทพาเต็มพื้นที่ทุกแปลง แต่เมื่อมีการไปตรวจสอบพื้นที่จริง กลับพบว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา พื้นที่ปลูกแตงโม สภาพเป็นดินปนทรายและมีทรายมากกว่า ไม่มีต้นไม้ใหญ่หรือกระถินเทพาอยู่ในพื้นที่ดังที่บริษัทฯ ให้การไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ชาวบ้านซึ่งเป็นโจทก์ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ที่ดินดังกล่าวพวกตนได้ครอบครองทำประโยชน์สืบต่อเนื่องกันมาไม่ขาดสาย แต่ผู้ที่ไปออกเอกสารสิทธิ น.ส.3ก และบุคคลอื่น ๆ ที่มีชื่อในสารบบเอกสาร ไม่เคยมีใครเข้ามาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสิ้น จึงไม่ทราบว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวออกมาได้อย่างไร และส่วนใหญ่พื้นที่ดังกล่าวพวกตนจะมีการปลูกข้าวมาก่อนและปลูกแตงโม อาจจะมีปลูกมะม่วงหิมพานต์ หรือมะพร้าวในบางแปลงเท่านั้น แต่ไม่มีใครปลูกกระถินเทพาเป็นแปลงใหญ่ดังที่บริษัท ทีพีไอฯ กล่าวอ้าง จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาพิสูจน์ความเป็นเจ้าของในที่ดิน

นอกจากนี้ จะมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองถึงกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนการตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิที่เจ้าพนักงานที่ดินยืนยันว่า บริษัท ทีพีไอฯ มีสิทธิดีกว่า โดยจะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา ในวันที่ 5 ก.พ. 2564 ภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานที่ดินกำหนด เพื่อจะได้นำคำฟ้องไปยื่นให้เจ้าพนักงานที่ดินชะลอการออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัท ทีพีไอฯ ต่อไป

ขณะที่ทนายเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนพบว่า มีข้อน่าสังเกตเนื่องจากรูปแผนที่ในระวางแผนที่และแผนที่ในเอกสารสิทธิ น.ส.3ก มีลักษณะที่ไม่เหมือนกันอยู่ในบางด้าน และไม่ตรงกับสภาพพื้นที่จริง ซึ่งจะต้องนำพิสูจน์กันในศาลต่อไป และยังพบว่ายังมีที่ดินอีกหลายแปลงที่มีชาวบ้านคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของบริษัท ทีพีไอฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยบางแปลงอ้างว่ามีการออกทับที่สาธารณะด้วย

ส่วนความคืบหน้าการเรียกร้องให้ตรวจสอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หลังจากชาวบ้านในนาม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงปลายปี 2563 ล่าสุด (28 ม.ค. 2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 20/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เป็นรองประธาน และมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ ยังให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบดังกล่าว ศึกษาและทบทวนปัญหา รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ เสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินการปัญหาและอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกันนี้ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว