สธ. ประกาศให้ ตะกั่ว – PM 2.5 เป็นโรคตาม กม. ควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อม

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข สาระสำคัญ คือ ให้ “โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว” และ “โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน” พร้อมให้อำนาจฝ่ายสาธารณสุข ควบคุม แหล่งกำเนิดโรคได้


ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ (1 ก.พ. 2564) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยสาระสำคัญของประกาศคือ ให้ “โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว” และ “โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน” เป็นโรคจากสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อม

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า ประกาศนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม

โดยในส่วนของการเฝ้าระวัง กำหนดไว้ในหมวด 5 โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องจัดให้มีการเฝ้าระวัง แหล่งกำเนิดมลพิษตะกั่ว และ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งอะไรเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องเฝ้าระวังนี้ ก็จะต้องมีการประกาศและขึ้นทะเบียนอีกทีหลังจากนี้

“สมมติเหมืองแร่ตะกั่ว ถูกประกาศเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษตามกฎหมายนี้ ก็อาจจะมีคำสั่งให้เหมืองตะกั่วต้องจัดให้มีการเฝ้าระวังสุขภาพต่อประชาชนและคนงานด้วย ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องนี้ที่ผ่านมาเป็นปัญหาในส่วนสาธารณสุขที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วจึงค่อยมาติดตามทีหลัง โดยไม่มีฐานข้อมูลเหมืองนั้นมาก่อน กฎหมายนี้จะช่วยให้ฝ่ายสาธารณสุขมีฐานข้อมูลเพื่อไปบังคับต่อผู้ประกอบการก่อนที่จะเกิดปัญหา”

ส่วนในเรื่องการป้องกันและควบคุมโรค ในหมวดที่ 6 เป็นกรณีที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว โดยกำหนดให้เมื่อมีเหตุน่าสงสัยว่าคนงานหรือประชาชนรอบเหมืองตะกั่ว มีลักษณะที่อาจได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายเกินกว่าค่ามาตรฐาน ก็ให้อำนาจฝ่ายสาธารณสุขมีอำนาจ สอบสวนโรค และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ อาจสั่งให้นายจ้าง เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง นำลูกจ้างหรือประชาชนเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาล

“แต่หากนายจ้าง เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง ไม่ดำเนินการตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ อธิบดีกรมควบคุมโรคอาจให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการไปก่อน และไปเรียกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากนายจ้าง เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง”

ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ หากมีอันตราย ร้ายแรง จากมลพิษตะกั่วหรือฝุ่น PM 2.5 ก็ให้อธิบดีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด สามารถประกาศเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวังโรคได้ คล้ายกับการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อป้องกันและควบคุมโรคจากมลพิษ 2 ตัวนี้ได้

“ประกาศฉบับนี้จะทำให้มีมาตรการในการดูแล ทั้งในด้านการสอบสวน เฝ้าระวัง หรือการควบคุมป้องกันโรคได้มากขึ้น แต่ยังคงต้องรอดูในทางปฏิบัติที่จะมีการประกาศตามมาหลังจากนี้ อย่างเรื่อง PM 2.5 ที่ยังมีอีกหลายหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย”

เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ประเด็นสำคัญ คือ มีกลไกให้ประชาชนเข้าไปร่วมในการตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วยอย่างไร เพราะกรณีโรคจากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในมุมสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ มันจำเป็นต้องมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ถึงจะควบคุมได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว