เปิดมุมมอง ‘หอการค้าแม่ฮ่องสอน’ แก้ปากท้อง = แก้หมอกควัน

ชี้ชาวบ้านไร้ทางเลือก เผาป่าเก็บเห็ดเงินสะพัดเฉียดล้าน แลกหมอกควันทำเกิดสุญญากาศเศรษฐกิจ ปีละ 2-3 เดือน กระทบท่องเที่ยวรายได้หลัก จี้รัฐแก้ปัญหาคู่ขนาน รับสภาพจังหวัดเล็กเสียงดังไม่เท่าจังหวัดใหญ่ 

ชนเขต บุญญขันธ์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชนเขต บุญญขันธ์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้สัมภาษณ์กับ The Active ว่า ในช่วงเดือน มีนาคม – เมษายนของทุกปี เป็นห้วงเวลาแห่งการฤดูหมอกควันไฟป่าพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดนผลกระทบอย่างหนักทุกปี และบางคนมองว่าเป็นการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร พืชเชิงเดี่ยว แต่หลัก ๆ ก็มีการเผาป่าจริง ๆ ด้วย ดังนั้นทุกปีในห้วงเวลานี้คนแม่ฮ่องสอนจะรู้และเตรียมการรับมือเท่าที่จะสามารถทำได้ 

“มีความพยายามในการแก้ปัญหามาตลอดทุกปี แล้วมันก็เกิดขึ้นซ้ำทุกปี คาดหวังว่าต้องได้รับการแก้ไขได้แล้ว เพราะก็รู้ว่าปีหน้าเวลาเดิม ก็จะวนกลับมาแต่เมื่อฝนมาฟ้าเปิด ทุกคนก็จะยุ่งกับการทำมาหากินจนลืมไปว่าช่วงเวลาที่หนักหน่วงที่สุดที่ผ่านมามันเป็นยังไง แล้วปีหน้าทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม”

ชนเขต บุญญขันธ์

ชนเขต บอกอีกว่า ผลกระทบทางสุขภาพเป็นตัวชูโรง หมอกควันไม่ดีต่อสุขภาพ แต่อย่าลืมว่าคนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารมีหลากหลาย พนักงานออฟฟิศ ข้าราชการ คนที่พอจะเข้าใจเรื่องสุขภาพก็หลีกเลี่ยงหาทางปกป้องตัวเอง มีห้องปิด มีเครื่องฟอกอากาศ เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันในแม่ฮ่องสอน มีกลุ่มอื่น ๆ อีกที่อาจจะเข้าไม่ถึงเครื่องฟอกอากาศ เข้าไม่ถึงความสะดวกสบาย เป็นกลุ่มต้นทาง เกษตรกร ชาวบ้าน คนในชุมชน ซึ่งสำหรับเขาเรื่องปากท้อง สำคัญกว่าเรื่องสุขภาพ 

“หมอกควันไฟป่าเยอะ คุณควรจะอยู่แต่ในบ้าน ไม่ต้องไปไร่ ไปสวน เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าถ้าเราอยากจะแก้ปัญหาให้กับชุมชน เราต้องไปแก้เรื่องปากท้องให้เขาก่อนอันดับแรก เศรษฐกิจครัวเรือนสำคัญกว่าสุขภาพสำหรับเขา บ้านเรือนก็ไม่ได้มีห้องปิด ควันก็ผ่านเข้ามา ดังนั้นเราจะไปบอกว่าต้องใส่แมสเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเขาต้องทำมาหากินจะให้เขาลดเผา ก็ยิ่งยากเพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องดูว่าเหตุผลที่เขาเผาคืออะไร เขาเผาเพราะเรื่องปากท้อง เขาเผาเพราะมันคือวิถีทางในการทำมาหากิน” 

ชนเขต บุญญขันธ์

หาทางเลือกให้ชาวบ้านแทนเผาป่า 

ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุด้วยว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นความหวังในสถานการณ์ที่ไม่มีความหวังอื่นเลย ถ้ามีการใช้จริง มันจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น เพราะอย่างน้อยคนทั่วไปก็ควรมีสิทธิ์เข้าถึงอากาศสะอาดโดยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ถามว่าคาดหวังขนาดไหน อย่างที่บอกว่า ก็ต้องแก้ปัญหา ณ ตอนนี้ไปด้วย ปัญหาปากท้องของเกษตรกร อาจเหนือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่มันเป็นเรื่องที่ควรจะเข้าไปดูแลอย่างต่อเนื่อง ปัญหาแบบนี้มันเกิดซ้ำ ๆ ทุกปี ควรจะมีคณะทำงาน ที่ทำงานเรื่องนี้ตลอดทั้งปีมากกว่าแค่เข้ามาเทคแอคชัน เมื่อควันมา 

“ควรจะมีคณะทำงานที่ทำเรื่องนี้ทั้งปี ต่อให้ฝนมาอากาศดี ก็ยังต้องพูดคุยกันเรื่องนี้ เพื่อที่ว่าเราจะได้เตรียมตัวว่าเราปีหน้าเราจะเอายังไง แล้วการเข้าหาชุมชนมันไม่ง่าย ต้องสร้างผู้นำชุมชน คุยกับคนที่ชาวบ้านพร้อมฟัง” 

ชนเขต บุญญขันธ์

หลายครั้งชาวบ้าน โดนกล่าวหาจากสังคมว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นอาจจะต้องเข้าไปแก้ให้ถูกจุด หากโทษกันไปโทษกันมา ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกัน แล้วก็จะมีการเผาแกล้ง จะมีความหวังเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ส่วนหนึ่ง แต่ทุกอย่างก็ต้องเดินไปคู่กัน 

ต้องสร้างงาน สร้างอาชีพทางเลือก ถ้าจะให้ชาวบ้านเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ให้เขาเผาป่า อย่าลืมว่าการเผาป่าตามความเชื่อของชุมชนชาวบ้าน เมื่อเผาแล้วหน้าฝนจะได้เห็ดเผาะ ผักหวานป่า ไข่มดแดง สุดท้ายกลับมาเรื่องปากท้อง กลับมาเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน เขาเผาเพราะมีความหวังว่า ฉันจะมีของที่หาจากป่าไปขาย และได้เงินเข้ามาจุนเจือครอบครัว 

ดังนั้นต้องหาอาชีพทางเลือกให้เขาด้วยอย่าห้ามอย่างเดียว แต่ไม่ได้มีอาชีพทางเลือกให้เขา แล้วเขาจะกินอะไร เคยมีคนบอกว่าให้ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกไผ่ ปลูกผลไม้ ปลูกทุเรียน แต่อย่าลืมว่าไม้ยืนต้นเหล่านี้ มันใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะเห็นเงิน แล้วช่วง 4-5 ปีเขาจะกินอะไร อย่างที่บอกว่าเก็บเห็ดเผาะ บางหมู่บ้านหนึ่งได้เป็นหลักหลายแสนบาท ได้เป็นล้านบาท ต้องใช้คำนี้ว่า “มันเป็นเงินที่สะพัดมาก

‘หมอกควันข้ามแดน’ ปัญหาที่ต้องมองให้เห็น  

ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังให้ความเห็นถึงสภาพพื้นที่ซึ่งติดกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจุดความร้อนไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย อย่างปีนี้เชียงรายทำได้ดีมาก จุดความร้อนแทบไม่มีเลย แต่สุดท้ายคนในจังหวัดเชียงราย ก็ยังได้รับผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าอยู่ดี เพราะควันลอยมาจากทุกที่ เราไม่เผาข้างบ้านเราเผาก็เหมือนกัน 

ต่อให้ประเทศไทยควบคุมไฟป่าได้ 100% แต่การย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ก็ก่อให้เกิดการเผา สุดท้ายควันก็กลับเข้ามาในบ้านเราอยู่ดี ดังนั้นรัฐบาลคือความหวัง จะคุยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร จัดการอย่างไรไม่ให้เกิดการเผา และในกรณีที่มีการโยกย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลก็จะต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลบริษัทต่าง ๆ ที่ย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้าน 

“เป็นอะไรที่ในฐานะประชาชนตัวเล็กๆคนหนึ่ง ก็ยังมีความคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีแนวทางการบริหารจัดการได้ดีกว่า นี้เพราะอย่างที่บอกว่าปัญหาที่มันเกิดซ้ำทุกปีเราอยู่รู้อยู่แล้วปีหน้าก็ต้องเกิด” ชนเขตกล่าวและบอกว่า การวางแผนรับมือ น่าจะเป็นบลูปริ้นเป็นเอกสารออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติจริงว่าข้อ 1,2,3,4 ห้ามทำอะไร เพราะไม่ใช่ปัญหาใหม่

ห่วงฤดูฝุ่น สุญญากาศเศรษฐกิจแม่ฮ่องสอน 

ชนเขต บอกอีกว่า เศรษฐกิจแม่ฮ่องสอน เหมือนสุญญากาศทุก ๆ ปี ปีละ 2-3 เดือน กระทบการท่องเที่ยว ในฐานะหอการค้า เป็นภาคเอกชนที่รวมตัวกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ อะไรก็ตามที่เป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจทดถอยในแต่ละช่วง ก็คือความรับผิดชอบของหอการค้าที่เราจะต้องเทคแอคชันในนามของภาคเอกชน  

ห้วงเวลาแบบนี้ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจภาคเหนือถดถอยมาก คนก็ไม่มาเที่ยว เพราะว่าเขาก็หลีกเลี่ยงอากาศที่ไม่ดี กระทบทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ภาคเกษตรด้วย ถ้าเราอยากจะทำให้เศรษฐกิจของบ้านเราดีขึ้น เราจะช่วยกันยังไง ก็เลยนำมาสู่การผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เชื่อว่ามีกฎหมายนี้แล้วอย่างน้อยคนก็เข้าถึงอากาศสะอาด อาจจะทำให้ภาพรวมดีขึ้น เศรษฐกิจก็ดีขึ้นด้วย 

”แม่ฮ่องสอนยกเลิกเที่ยวบิน เพราะหมอกควันหนาลงไม่ได้ แต่รายได้หลักของจังหวัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากภาคการท่องเที่ยว เมื่อไม่มีคนมาเที่ยว ก็ทำให้เศรษฐกิจของบ้านเรา ถดถอยลงแล้วคนก็จะมาอีกทีช่วงฤดูหนาว“ 

ชนเขต บุญญขันธ์
รันเวย์สนามบินแม่ฮ่องสอน ปกคลุมไปด้วยหมอกควัน ฝุ่น PM2.5 สายการบินประกาศยกเลิกเทียวบินนานหลายสัปดาห์

แม่ฮ่องสอน จังหวัดที่ถูกลืม ?

ถามว่าเราถูกลืมไหม ต้องใช้คำว่าเขามีพื้นที่สื่อมากกว่า อย่างจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพียงแต่ว่าใครจะอยู่ในพื้นที่สื่อมากกว่ากัน พอจังหวัดใหญ่ที่มีคนเยอะก็มีนักข่าวโซเชียลอยู่แล้วส่งข้อมูลเข้าไป ตอกย้ำว่าเชียงใหม่ๆๆ เยอะตอนนี้  

แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่พอสื่อสารเข้าไปทุกคนก็ทราบเพียงแต่ว่า การจัดการมันอาจจะไม่ทันท่วงที หรือเทคแอคชันไม่ไวเท่าจังหวัดเชียงใหม่ที่ความพร้อมของบุคลากรมีมากกว่า

พื้นที่แม่ฮ่องสอน ภาครัฐก็ทำงานเต็มที่แล้ว เห็นทุกปีหน่วยดับไฟป่า ทสจ. จังหวัด ทุกคนทำงานกันเต็มที่มาก ๆ แต่ถ้าถามว่าถูกลืมไหม

”เราไม่ถูกลืมหรอก แต่ว่าการเทคแอคชันมันอาจจะไม่ได้อิมแพ็คใหญ่เท่าจังหวัดใหญ่ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณด้วย พอเป็นจังหวัดใหญ่การจัดสรรงบประมาณบุคลากร ก็มีมากกว่า“​ 

ชนเขต บุญญขันธ์

ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิ้งท้ายว่า ภาคเอกชนขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนแก้ปัญหาหมอกควันสำเร็จเลย เรามีความคาดหวังว่ารัฐบาลจะต้องดูแล แต่เราก็ดูแลตัวเองในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ก็มีความคาดหวังว่ารัฐบาลอาจจะต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่มัน Impact จริง ๆ ที่มันเป็นรูปธรรมจริง ๆ มากขึ้นกว่านี้

”ถ้าถามว่ามุมมองต่อรัฐบาลนี้เป็นยังไง ตอบว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่มีใครทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ และยังเป็นความคาดหวังของภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคมว่า วันหนึ่งจะต้องมีมาตรการในการทำตรงนี้ให้สำเร็จออกมาได้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็แล้วแต่“

ชนเขต บุญญขันธ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active