การรถไฟฯ พร้อมให้ความร่วมมือช่วยเหลือผู้เดือดร้อน หลังชาวบ้านขอให้การรถไฟฯ ออกเอกสารขอเช่าพื้นที่ชั่วคราว ชะลอคดีหมายศาล
วันนี้ (5 ก.พ. 2564) คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย นัดประชุมประจำเดือน เรื่อง การแก้ปัญหาที่ดินที่เกี่ยวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2564 ณ การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี ไพบูลย์ สุจิรังกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายช่างโยธา เป็นประธานการประชุม และภาคประชาสังคมเข้าร่วมในวาระการประชุม พร้อมพูดคุยในหลายประเด็นสำคัญ เช่น การชะลอคดีไล่รื้อสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟ กม.11 การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับชุมชนริมทางรถไฟเขตราชเทวี และการสำรวจประชากรที่อยู่ริมทางรถไฟทั้งหมดเพื่อวางแผนแก้ปัญหาในภาพรวมของประเทศ
สำหรับกรณีการสำรวจประชากรครัวเรือนที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ของการรถไฟฯ เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการสำรวจผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการของคืนพื้นที่การรถไฟ และเพื่อวางแนวทางการแก้ปัญหาเยียวยา พบว่า ขณะนี้สถาบันพัฒนาองค์กระชุมชน (พอช.) ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค กำลังอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูล ซึ่งในที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้พิจารณาและให้รายละเอียดในการจัดเก็บเนื้อหา เช่น ความยาวนานของการเข้าอยู่อาศัยของแต่ละครอบครัว และที่มาของการบุกรุกพื้นที่ โดยผู้ที่อยู่อาศัยใหม่ หรือบุกรุกใหม่ รวมถึงครอบครัวขยาย อาจถูกพิจารณาต่างจากผู้ที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม
ส่วนกรณีการคิดค่าเช่าพื้นที่อาศัยของชุมชนพระราม 6 เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร จากข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการให้คิดอัตราค่าเช่าใหม่ให้เป็นตามอัตราเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในปัจจุบันมีการเก็บค่าเช่าพื้นที่ในราคา 150 บาทต่อตารางเมตรต่อปี โดยต้องการให้ลดราคาเหลือตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี สำหรับเงินส่วนต่างของราคาค่าเช่าที่เก็บไปแล้ว ทางชุมชนมีข้อเสนอถึงการขอคืนค่าเช่า โดยที่ประชุมมีมติให้ส่งต่อไปยังคณะอนุทำงานฯ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป
ขณะที่กรณีการเดินหน้าคดีไล่รื้อชาวบ้านออกมาจากพื้นที่ย่าน กม.11 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งในขณะนี้มีชาวบ้านที่โดนหมายศาลแล้ว 30 ครัวเรือน จากทั้งหมดกว่า 200 ครัวเรือน โดยมีคำสั่งให้รื้อถอนและออกจากพื้นที่ภายในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ชาวบ้านได้หารือเพื่อหาวิธีการชะลอ/พ้นคดี โดยให้การรถไฟฯ ออกเอกสารการขอเช่าพื้นที่ชั่วคราว ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้เดินหน้ารวบรวมเอกสารเพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำไปเป็นหลักฐานให้การต่อศาล
สำอางค์ บัวอ่าง ตัวแทนชุมชนริมทางรถไฟ กม.11 ระบุ การออกเอกสารเช่าพื้นที่โดยการรถไฟฯ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้าน ระหว่างศาลขอเลื่อนการตัดสินคดีอย่างไม่มีกำหนด
“เรามาขอเช่าพื้นที่การรถไฟเพื่อให้ศาลชะลอการตัดสินตามหมายศาลเดิมที่ได้รับ ซึ่งตอนนี้มีชาวบ้านได้รับหมายศาลแล้วส่วนหนึ่ง คาดว่าจะมีหมายมาอีกเรื่อย ๆ ตอนนี้ศาลขอเลื่อนอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากโควิด-19 ระบาด แต่ก็อยากให้การรถไฟออกเอกสารการเช่าพื้นที่ให้ เพื่อที่จะได้มั่นใจเพราะไม่รู้ว่าจะโดนศาลเรียกอีกทีเมื่อไหร่ ซึ่งในที่ประชุมให้ส่งต่อเรื่องพิจารณาไปยังสำนักงานทรัพย์สินการรถไฟ”
ในส่วนของการเรียกร้องให้การรถไฟจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านในพื้นที่ของการรถไฟ หรือ land sharing เพื่อที่ชาวบ้านจะได้ย้ายออกจากจุดที่การรถไฟให้รื้อย้าย เชาว์ เกิดอารีย์ ตัวแทนชุมชนริมทางรถไฟราชเทวี (บุญร่มไทร) ได้ชี้แจงข้อเสนอต่อที่ประชุมว่า ต้องการขอแบ่งปันพื้นที่ 28 ไร่ในเขตราชเทวี สำหรับชุมชนริมทางรถไฟที่กำลังมีปัญหา 649 ครัวเรือน ซึ่งที่ประชุมยังไม่มีมติ แต่มีข้อเสนอว่าให้ชุมชนกลับไปพิจารณาเรื่องรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่ใหม่ หากว่าออกแบบเป็นตึกอาคาร จะได้สามารถลดขนาดของพื้นที่และมีความเป็นไปได้มากขึ้น
“เราขอให้มีการจดบันทึกในที่ประชุม เพื่อเป็นข้อเสนอของชุมชนว่าขอแบ่งปันพื้นที่ ในเขตราชเทวี-มักกะสัน แล้วชุมชนริมทางรถไฟทั้งหมดจะมารวมกันอยู่ในพื้นที่เดียว หากทางรถไฟมีแนวทางจะจะแบ่งปันให้ แต่จะลดขนาดพื้นที่ ทางชุมชนก็จะต้องกลับไปคุยกันอีกทีว่าจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง แต่ยืนพื้นอยากจะอยู่ในพื้นที่แนวราบ รวมไปถึงเรื่องที่ทางรถไฟอยากให้ไปอยู่แถว หลัก ชุมชนก็ไม่อยากไปเพราะไกลจากที่เดิม อาจลำบากเพราะหลายคนประกอบอาชีพแถวนี้ หาบเร่แผงลอย วิน พนักงานห้าง”
ทั้งนี้ คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีวาระการประชุมร่วมกันกับภาคประชาสังคมทุกเดือนเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาต่อไป