ชมฟ. ทวงนัดประชุม ‘ศักดิ์สยาม’ หลัง ครม. มีมติอนุมัติเช่าที่ดินรถไฟ เผยยอมถอย หากมีที่อยู่ชั่วคราว

โค้งสุดท้าย ปิดคดีฟ้อง “ชุมชนริมทางรถไฟ – ผลกระทบจากโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง” เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ ชี้ ยอมถอยออกจากพื้นที่ หากรัฐจัดหาที่พักชั่วคราว ระหว่างรอจัดสรรที่อยู่อาศัยใหม่ใกล้บึงมักกะสัน

วันนี้ (22 ก.พ. 2565) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และภาคีเครือข่าย ยื่นหนังสือถึง ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งติดตามการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ และขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน หลังจากเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีมติว่า วันที่ 17 หรือ 18 กุมภาพันธ์ จะมีการแจ้งแต่ผู้แทนกระทรวงคมนาคม พร้อมเรียนเชิญตัวแทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ผู้แทนสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดการประชุมหาทางออกให้กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน แต่พบว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีกำหนดการที่จะจัดประชุม ทำให้ชาวบ้านเป็นกังวล

เชาว์ เกิดอารีย์ ตัวแทนเครือข่าย ชมฟ. และประธานชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ระบุว่า ที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างมากในการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ถูกฟ้องคดีกรณีบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยทางการรถไฟฯ ได้มีการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยใหม่บริเวณบึงมักกะสัน เขตมักกะสัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่อาศัยเดิม และชาวบ้านก็เห็นด้วยที่จะย้ายไปยังที่อาศัยใหม่ ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ออกแบบแปลนบ้านให้แล้วเสร็จ พร้อมก่อสร้างจากเงินออมทรัพย์ตามโครงการบ้านมั่นคงที่ชาวบ้านดำเนินการก่อนหน้านี้

“มติ ครม. เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็มีความชัดเจนว่าจะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินการรถไฟฯ ในราคา 20 บาท ต่อตารางเมตร ต่อปี พร้อมเงินสนับสนุนอีก 160,000 บาทต่อหลังคาเรือน และให้การรถไฟฯ ชะลอคดีกับชาวบ้าน ตอนนี้เอง ชาวบ้านพร้อมที่จะไปยอมความต่อศาล และย้ายออกจากพื้นที่แล้ว แต่ขอให้มีการสร้างบ้านพักชั่วคราวระหว่างรอการก่อสร้างแล้วเสร็จ อยากจะหารือในที่ประชุมเรื่องนี้ว่าจะให้ไปอยู่ที่ไหนก่อน เพราะชาวบ้านไม่มีที่ไป”

ศักดิ์สยาม คมนาคม การรถไฟ

นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่าย ชมฟ. ยังระบุอีกว่า ต้องการความชัดเจนเนื่องจากก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ ระบุให้ชาวบ้านดำเนินการยอมความคดีฟ้องร้องภายในเดือนมีนาคม หากจะทำให้ได้ตามกำหนดการ ก็จำเป็นต้องจัดแจงที่พักชั่วคราวให้ เพราะเกรงว่าหากศาลให้ออกจากพื้นที่แล้วจะไม่มีที่อาศัย โดยในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.) จะมีการเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้