ชงแก้ภายใน 45 วัน มอบหมายกรมอุทยานฯ ทบทวนคำสั่งปิดหมู่บ้าน ห้ามรับของบริจาค หลังผู้ใหญ่บ้าน แจง ปิดสกัดโควิด-19 แต่ไม่ได้ห้ามกลุ่มที่ต้องการให้ความช่วยเหลือพี่น้องกะเหรี่ยง
วันนี้ (5 ก.พ. 2564) วุฒิ บุญเลิศ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี สัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะทำงานฯ มีมติตั้งคณะทำงานชุดพิเศษ ประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ 6 คน คือ นายอำเภอแก่งกระจาน, หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ผู้แทนสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนอีก 2 คน โดยมอบหมายให้สำรวจและรวบรวมข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เสนอให้ที่ประชุมคณะทำงานฯ ชุดใหญ่วิเคราะห์เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาภายใน 45 วัน โดยคาดว่าคณะทำงานชุดพิเศษจะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลครั้งแรกประมาณวันที่ 19 ก.พ. นี้
ทั้งนี้ คาดหวังให้หน่วยงานภาครัฐสร้างบรรยากาศที่ดีและแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา เพื่อหาทางออกร่วมกัน
“คณะทำงานชุดนี้จะเป็นความหวัง ซึ่งอยากให้เป็นลักษณะการขึ้นไปรับฟังปัญหาความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยในพื้นที่ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เลือกตัดสินใจอพยพกลับป่าใหญ่ใจแผ่นดิน โดยขึ้นไปสำรวจสภาพความเป็นจริงข้างบน ต้องยุติหรือระงับแนวทางการส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจาให้ชาวบ้านกลับลงมาเจรจาหารือข้างล่าง เพราะเห็นแล้วว่าแนวทางนั้นเป็นลักษณะของการใช้คำสั่ง ใช้อำนาจ และเป็นปัญหาของการนำไปสู่ข้อยุติเพื่อหาทางออก ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ สิทธิมนุษยชนเข้าไปแก้ไขปัญหา”
ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งคณะทำงานสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนเพิ่มอีก 2 คน ทำให้มีตัวแทนในสัดส่วนภาคประชนรวมเป็น 6 คน
ที่ประชุมยังหยิบยกเรื่องปัญหาการร้องเรียนว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก เช่น กลุ่มที่จะนำข้าวไปบริจาคให้ชาวบ้านบางกลอยที่มีปัญหาความเดือดร้อนในที่ทำกินและขาดอาหาร รวมถึงชาวบ้านที่เดินทางเข้าออกต้องโดนตรวจค้นก่อนผ่านด่าน ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้ชาวบ้าน เพื่อหารือในที่ประชุมด้วย
โดย ประธานคณะทำงานฯ มอบหมายกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทบทวนเรื่องนี้ ซึ่งหัวหน้าอุทยานฯ ชี้แจงว่าที่ไม่อนุญาตให้เข้าไป เพราะผู้ใหญ่บ้านปิดชุมชน แต่เมื่อภาคประชาชนสอบถามผู้ใหญ่บ้าน ระบุเหตุผลว่าที่ปิดชุมชนเป็นเรื่องมาตรการป้องกันโควิด ไม่ใช่ห้ามการมาบริจาคข้าวของช่วยเหลือชาวบ้าน ทางหัวหน้าอุทยานฯ จึงทบทวนและให้คณะที่จะนำข้าวของไปช่วยเหลือชาวบ้าน ให้กรอกเอกสารแจ้งความประสงค์ที่อุทยานฯ พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัด
ด้านเครือข่ายที่ใช้ชื่อว่า “กะเหรี่ยงและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม #Saveบางกลอย” ที่นัดหมายเคลื่อนไหวที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ประณามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังยื่นหนังสือเรียกร้องขอเข้าพบรัฐมนตรีฯ ขอความชัดเจนในจุดยืนและแนวทางคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นธรรมให้กับชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย พร้อมทั้งขอให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน และความพยายามให้ข่าวเชิงลบต่อชาวกระเหรี่ยงบางกลอย รวมถึงการหาแนวทางชาวบ้านได้กลับไปในพื้นที่ทำกินเดิมที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐมนตรีฯ
สาระสำคัญในแถลงการณ์ ระบุว่าถึงกรณีพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่ต้องการกลับใจแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นความชอบธรรมในการกลับไปที่อยู่ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม เพื่อความอยู่รอด เพื่อวิถีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งมีเครือข่ายพี่น้องภาคี #Saveบางกลอย ทั่วประเทศร่วมติดตาม ส่งกำลังใจถึงพี่น้องให้ได้รับความเป็นธรรมและได้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของบรรพบุรุษเป็นจำนวนมาก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการแก้ปัญหาที่ผ่านมากลับไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการคืนความเป็นธรรมในกับพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย กลับมีการสื่อสารจากบุคคลและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการเตรียมดำเนินคดีกับพี่น้องกะเหรี่ยง รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าให้ความช่วยเหลือบริจาคข้าวและอาหาร ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลถึงความปลอดภัยของพี่น้อง ความเป็นอยู่ และปัญหาความขัดแย้งครั้งใหม่ โดยหยิบยกกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาคนกระทำผิดมาลงโทษได้ จึงไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายเกิดขึ้นอีก แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับไม่ได้ทำหน้าที่อำนวยให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว
“เราขอประกาศว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการเคลื่อนไหวของประชาชน กดดันผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ให้แก้ไขปัญหาของประชาชน ขอให้ประชาชนผู้เดือดร้อน รักความเป็นธรรมและเห็นด้วยกับเรา มาร่วมชุมนุมกดดันรัฐบาล หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ให้เกิดการแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่การสนับสนุนให้พี่น้องบางกลอยได้กลับไปทำกินตามวิถีชีวิต ใจแผ่นดิน ที่ดินบรรพบุรุษ”