ภาคีเครือข่าย #saveบางกลอย ยังปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล รอดูสถานการณ์ใจแผ่นดิน คณะทำงานแก้ปัญหาบางกลอยเร่งถกหาทางออก ถอยคนละก้าว
วันนี้ (15 ก.พ. 2564) ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย ซึ่งมีทั้งตัวแทนชาวบ้านบางกลอย และนักกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ นำกะลามะพร้าวและไม้ไผ่ มาตีกระทบกันเพื่อเกิดเสียงดัง ตามความเชื่อของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในการเรียกรวมพลเมื่อเกิดเหตุร้ายในหมู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่มีเป้าหมายทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุ
ตั้งแต่ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มตรึงกำลังเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินเข้าไปประชิดกับแนวประตูของทำเนียบรัฐบาลในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศเสียงตามสาย ระบุว่า ตอนนี้มีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากมีการเดินเข้าไปประชิดทำเนียบรัฐบาลจะเป็นการชุมนุมผิดกฎหมายทันที
จากนั้น ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลออกมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมรับฟังปัญหาและข้อเสนอ เร่งด่วน 3 ข้อ คือ 1. ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากหมู่บ้านใจแผ่นดิน 2. ยุติการตั้งด่านสกัดขนเสบียงขึ้นหมู่บ้าน และ 3. ถอนคดีการชุมนุม ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่มีผู้ที่มีผู้ถูกออกหมายจับ 10 คน
จากนั้น ร้อยเอก ธรรมนัส โทรศัพท์ต่อสายตรงถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทันที หลังจากนั้นประกาศยืนยันว่าจะมีการถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากหมู่บ้านใจแผ่นดินวันนี้ และพร้อมทำตามทุกข้อเสนอ
“นอกจากข้อเสนอเร่งด่วนทั้ง 3 ข้อแล้ว ยังมีการเร่งรัดการประชุมของคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย ที่เดิมจะลงพื้นที่ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เลื่อนมาเป็นวันพรุ่งนี้เพื่อหาข้อสรุป ในแนวทาง ถอยคนละก้าว”
ด้าน พชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานกลุ่ม #SAVEบางกลอย บอกว่าเป้าหมายสูงสุดของการเคลื่อนไหว คือ การที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ได้กลับคืนสู่หมู่บ้านใจแผ่นดินอย่างถาวร เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เผชิญปัญหาความไม่เป็นธรรมในที่ดินทำกิน หลังถูกอพยพลงมา แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เพราะท่าทีของภาครัฐยังคงยืนยันในการบังคับใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากผืนป่า ข้อเสนอเฉพาะหน้า คือ การขอให้ถอนกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานที่ติดอาวุธ ซึ่งได้สร้างความไม่ไว้ใจให้กับชาวบ้าน เพราะกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย และกลัวจะซ้ำรอยเหตุการณ์ เผาบ้านกะเหรี่ยงเมื่อปี 2554 เป็นที่มาของการออกมาเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่าย #SAVEบางกลอย หน้าทำเนียบรัฐบาลวันนี้ หลังจากเคยยื่นข้อเสนอถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ
“ชาวบ้านบางกลอยยังคงปักหลักรอดูสถานการณ์จากในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ว่าหลังจากที่ร้อยเอก ธรรมนัส ได้มีการต่อสายตรงไปถึงนายวราวุธ ให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่นั้น จะทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากคำตอบในพื้นที่ที่รอฟังอยู่ไม่เป็นผล ก็พร้อมที่จะปักหลักยาว”
พชร กล่าวอีกว่า เตรียมสร้างแบบจำลองบ้านของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเท่าขนาดจริง อยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นบ้านแบบเดียวกับที่เคยถูกเจ้าหน้าที่อุทยานเผาเมื่อปี 2554 ซึ่งนับเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง เพื่อตอกย้ำความไม่เป็นธรรมของรัฐในการกดขี่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในช่วงเวลาที่ผ่าน
ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงเช้า คณะอนุกรรมการสมานฉันท์เชิงประเด็น บางส่วน ได้ประชุมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากตัวแทนชาวบ้านบางกลอย
เตือนใจ ดีเทศน์ หนึ่งในอนุกรรมการบอกว่า เป็นประเด็นที่มีความเห็นต่าง ความขัดแย้งกัน ระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่แสวงหาทางออก อาจนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรง จึงต้องหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างสันติ โดยภายหลังการหารือจะนำข้อสรุปเสนอและหารือในคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดใหญ่ที่จะประชุมในช่วงบ่ายวันนี้ ก่อนเสนอต่อรัฐบาล