“อีโบลา” ระบาดในแอฟริกา “สธ.” ยกระดับเฝ้าระวังเข้มข้น แนะเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ป่า

WHO เตือนอีโบลาระบาดในประเทศดีอาร์คองโก และกินี สธ. ชี้ แม้ไทยยังไร้ผู้ป่วย แต่เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น​

16​ ก.พ.​ 2564 – นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศ ที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งใหม่ในสองประเทศแถบแอฟริกา ได้แก่ ประเทศคองโก (DR Congo) และประเทศกินี ซึ่งการระบาดครั้งนี้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่องค์การอนามัยโลกได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของทั้งสองประเทศเพื่อควบคุมและยุติการระบาดในครั้งนี้

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยที่สงสัยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามระบบที่วางไว้อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ 1. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2. โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และ 3. ในระดับชุมชน โดยเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในทุก ๆ ช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่ด่านสนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านชายแดน หากพบผู้เดินทางมีอาการคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนด

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป คือ 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรค 2. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง ค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลก ๆ มาประกอบอาหาร และ 3. สำหรับประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศ ขอให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยหมั่นล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่สุก ร้อน สะอาด และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค อาการสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว

ไทยเฝ้าระวัง​ 3​ สายพันธุ์​ “โควิด-19″​ กลายพันธุ์

ส่วนความคืบหน้า กรณีพบการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่หากอยู่ในมนุษย์บางคนหรือสัตว์อาจกลายพันธุ์เร็วกว่าปกติ และการระบาดในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกอาจทำให้เกิดสายพันธุ์เฉพาะถิ่นขึ้นมา ซึ่งที่ต้องเฝ้าระวังมี 3 สายพันธุ์

  1. สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น แบ่งตัวได้ดีขึ้น และอาจเพิ่มอัตราการป่วยหรือเสียชีวิตเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น
  2. สายพันธุ์ B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น และลดการตอบสนองของวัคซีนหลายชนิด ซึ่งหลายประเทศทดสอบพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ยังไม่มีข้อมูลว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น
  3. สายพันธุ์ P.1 หรือสายพันธุ์บราซิล คล้ายกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้

สำหรับประเทศไทย การระบาดระลอกแรกพบว่า ไวรัสมีการเปลี่ยนสายพันธุ์โดยสามารถตรวจได้หลากหลาย ส่วนระลอกใหม่ขณะนี้ยังเป็นเชื้อจากเมียนมาและยังไม่มีการกลายพันธุ์ ตอนนี้มีการติดตามทุก 2 เดือน ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่เพิ่งเริ่มเมื่อธันวาคม 2563 ยังไม่ยาวนานพอที่จะเห็นการกลายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นแหล่งระบาดของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อังกฤษ และบราซิล เพื่อไม่ให้คนไทยติดเชื้อและเกิดผลกระทบต่อการให้วัคซีน โดยได้หารือการเพิ่มการกักตัวผู้เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาจาก 14 วัน เป็น 21 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศบค. ส่วนการรักษาของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดในแต่ละสายพันธุ์ยังไม่มีความแตกต่างกัน

“การป้องกันไม่ให้เชื้อกลายพันธุ์ คือ การทำให้เชื้อไม่เข้าสู่ร่างกาย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง เพื่อยับยั้งกระบวนการไม่ให้ไวรัสอยู่ในคน และการใช้วัคซีน”

สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่เดินทางมาจากแทนซาเนีย เอกซเรย์พบว่าปอดอักเสบ จึงย้ายมารักษาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังรับยาต้านไวรัส ขณะนี้คนไข้อาการดีขึ้น การใช้ออกซิเจนเพื่อรักษาลดลง และอาการดีขึ้นเป็นลำดับ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS