รัฐสภา ลงมติวาระ 1 เห็นด้วย 565 เสียง ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

ตั้ง กมธ. 49 คน แปรญัตติ 15 วัน “ภูมิใจไทย” ไม่ร่วม หลังขอพิจารณา ร่าง ร.ธ.น. ก่อน ไม่สำเร็จ

วันนี้ (24 ก.พ. 2564) ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … โดยเห็นด้วย 565 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง และที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จำนวน 49 คน มีระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยมีสัดส่วนดังนี้ ครม. 8 คน, ส.ว. 14 คน, พรรคเพื่อไทย 8 คน, พรรคพลังประชารัฐ 7 คน, พรรคก้าวไกล 3 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน, พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และ พรรคประชาชาติ 1 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่มีสัดส่วน 3 คน ไม่ประสงค์เสนอชื่อร่วมเป็นคณะกรรมาธิการฯ

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ เกิดเหตุการณ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้วอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุม หลังที่ประชุมมีมติให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ขึ้นมาพิจารณาก่อน ด้วยคะแนน 331ต่อ 160 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1

โดย ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ระบุเหตุผลที่คัดค้านการเลื่อนระเบียบวาระว่า เพราะไม่ได้ร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย เกรงว่าจะทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 เสร็จไม่ทันก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 28 ก.พ.2564 นี้ เพราะร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับมีผู้ขออภิปรายจำนวนมาก เกรงจะใช้เวลานาน และเป็นการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวยืนยันว่า แม้พรรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าประชุมวิป 3 ฝ่าย แต่ได้แจ้งผลประชุมให้พรรคภูมิใจไทยทราบแล้ว พร้อมยืนยันไม่ได้มีเจตนายื้อการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าพิจารณาเสร็จไม่ทันวันที่ 25 ก.พ.นี้ ก็จะให้พิจารณาต่อวันที่ 26-27 ก.พ.ก่อนจะมีการปิดประชุมวันที่ 28 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอขึ้นมาโดยคณะรัฐมนตรีในฐานะ “กฎหมายปฏิรูป” เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ตราขึ้นตามการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) และกฎหมายดังกล่าวจะถูกพิจารณาโดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งต่างกับกฎหมายปกติที่ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาก่อนเสมอ

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ คือ การโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ภารกิจตำรวจรถไฟ หรือ ภารกิจตามกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีการจัดระเบียบโครงสร้างทางราชการและกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รวมถึงมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ดูแลปกป้องตำรวจจากผู้บังคับบัญชา เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ เคยถูกบรรจุวาระในที่ประชุมร่วมรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ต้องยุติการอภิปราย เพราะปัญหาองค์ประชุม

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว