ยัน รัฐไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง พร้อมเดินหน้าเยียวยา พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกช่วยชาวบ้าน ขณะที่ กลุ่ม #Saveป่าแก่งกระจาน ยื่นนายกฯ จัดการคนรุกป่า ส่วน “ชัยวัฒน์” แจ้งเอาผิด ป.ป.ท.
1 มี.ค. 2564 – วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุถึงกรณีข้อพิพาทชาวบ้านบางกลอย ในป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ภายหลังการเจรจาเสร็จสิ้นลงไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา และแม้ในวันนั้นตัวแทนชาวบ้านบางกลอยที่อพยพชึ้นไปบางกลอยบนเดินออกจากวงเจรจาไปก่อน เพราะมองว่าเจ้าหน้าที่ไม่รับฟังข้อเสนอของพวกเขา แต่ก็ยังไม่ถือว่าการเจรจาล่ม เพียงแต่ยังเจรจากันไม่จบ ซึ่งก็มีหลายฝ่ายพยายามโยงให้เป็นประเด็น ทั้งที่ผลกระทบที่หนักที่สุดจะตกอยู่ที่ชาวบางกลอยเอง
รมว.ทส. บอกว่า สิ่งที่ทำอยู่ในเวลานี้ คือ เร่งหาวิธีการเยียวยาประชาชนกว่า 100 ชีวิต ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน สิ่งอำนวยความสะดวก และปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร ยืนยันว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปีนี้อย่างแน่นอน
ส่วนการนำเจ้าหน้าที่ไปกดดันในพื้นที่นั้น ต้องชี้แจงว่า พื้นที่อนุรักษ์คือพื้นที่อ่อนไหว เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปก็จะเกิดปัญหา ส่วนที่อ้างว่าเป็นพื้นที่เดิมในการทำการเกษตร หากสำรวจจากภาพถ่ายทางอากาศจะพบว่าไม่ใช่ที่เดิม ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงขึ้นไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการบุกรุก ถือเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทยที่จะรักษาผืนป่าต้นน้ำให้มีความสมบูรณ์ หากมองว่าข่มขู่ก็พูดง่าย คนไม่อยู่ในพื้นที่ก็พูดไปต่าง ๆ นานา ชอบดราม่า และย้ำว่าต้องพูดกันตรง ๆ หลายคนอยากให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ยืนยันว่าความรุนแรงไม่ใช่นโยบายของรัฐ แต่ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย
#Saveป่าแก่งกระจาน ร้องนายกฯ จัดการคนรุกป่า
ขณะที่ช่วงสายวันนี้ ภาคี #Saveป่าแก่งกระจาน ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากสมาคมอุทยานแห่งชาติ, คนเพชรบุรีรักษ์ผืนป่าแก่งกระจาน และ กลุ่มพิทักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายปกป้องเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และเรียกร้องการแก้ปัญหา กรณีการบุกรุกป่าต้นน้ำเพชรบุรีภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ของกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
วัฒนา วชิโรดม ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติ ระบุถึงข้อเรียกร้อง โดยยืนยันว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญ ที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้อย่างดีที่สุดเพื่อเป็นมรดกอันล้ำค่าของคนไทยทั้งประเทศและของคนทั้งโลก พร้อมขอให้ทั้งเสนอให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอย ที่ประกาศแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ร่วมกันค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะบุคคลของกลุ่มที่เข้าไปถางป่าใหม่”
ทั้งนี้หากพบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นผู้ที่เพิ่งลักลอบ หรืออพยพเข้ามาใหม่จากประเทศเพื่อนบ้าน ขอให้นายกรัฐมนตรีกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและขยายผลไปการกระทำผิดกฎหมายในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ยังขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มบุคคลที่ผู้สนับสนุนการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด และขอให้นายกรัฐมนตรีกำชับ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดที่บุกรุก ทำลายป่าตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 อย่างเคร่งครัด
“ชัยวัฒน์” แจ้งเอาผิด ป.ป.ท. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่-กลั่นแกล้งให้รับโทษหนัก
ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูล “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 9 จ.อุบลราชธานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีความผิดวินัยร้ายแรง และให้ไล่ออกจากราชการ จาก กรณีเผาที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง เมื่อปี 2554
ล่าสุดวันนี้ ชัยวัฒน์ เดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 7 จ.นครปฐม เพื่อขอทราบความเห็นกรรมการ ป.ป.ท. ที่ชี้มูลความผิดดังกล่าว โดยมองว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ท. ไม่เคยลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และตนปฏิเสธข้อหานี้มาตลอด แต่กลับมีมติชี้มูลโทษผิดวินัยร้ายแรง โดยมองว่า อาจเป็นการกลั่นแกล้งให้ได้รับโทษหนัก จึงต้องการขอสำเนาเอกสารคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่เกี่ยวข้องกับการชี้มูลความผิด เพื่อประกอบการใช้สิทธิทางกฎหมาย และเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน
นอกจากนี้ได้ไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับ การทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อเอาผิด ป.ป.ท. ในมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรา 200 วรรค 2 ที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งให้บุคคลต้องรับโทษหนัก