‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ ห่วง 11 ปี ครอบครัวบิลลี่ ยังไร้การเยียวยาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ล่าสุด คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมอุทยานฯ ศาลแพ่ง แจ้งทนายความ ขอเลื่อนสืบพยาน 21 ก.พ. นี้ ออกไปก่อน
วันนี้ (13 ก.พ. 68) The Active ได้รับการเปิดเผยจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ถึงกรณีความคืบหน้าคดีของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ พ 1459/2567 ซึ่งเป็นคดีที่ครอบครัวของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เป็นโจทก์ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นจำเลย ว่าทนายความของครอบครัวบิลลี่ ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลแพ่ง แจ้งว่า การนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ฝ่ายโจทก์ยังไม่ต้องนำพยานมาสืบ เนื่องจากศาลเห็นว่า อาจต้องรอผลคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา ซึ่งหมายถึง คดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คือ คดีหมายเลขดำที่ อท166/2565 หมายเลขแดงที่ อท 2072/2566 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาพิเศษ 1 โจทก์ ฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย เรื่องความผิดต่อชีวิต ความผิดเสรีภาพ ความผิดตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์
โดยคดีนี้ เป็นคดีที่ครอบครัวบิลลี่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 67 สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัด กระทำละเมิดโดยการอุ้มฆ่าบิลลี่ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยเรียกค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรม ค่าเสียหายต่อสิทธิ เสรีภาพและชีวิต ค่าเสียหายต่อจิตใจ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงินต้นกว่า 26 ล้านบาท โดยฝ่ายโจทก์มีพยานที่จะนำเข้าสืบต่อศาลรวม 9 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยมีพยานที่จะนำเข้าสืบต่อศาล 6 ปาก รวมทั้งสิ้น 15 ปาก

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า ทนายความครอบครัวบิลลี่ ได้ประสานงานพยานทุกปากพร้อมสืบพยานต่อศาลไว้พร้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้จัดเตรียมบันทึกคำเบิกความพยานทั้ง 9 ปาก และเตรียมจะยื่นต่อศาลประกอบการสืบพยานในชั้นศาล รวมถึงทีมทนายได้ประสานงานพยานทุกปากให้เดินทางมาสืบพยานตามหมายเรียกของศาลตามกำหนดนัดในวันที่ 21, 25, 26, 27, 28 ก.พ. 68 โดยพยานโจทก์บางส่วนได้ซื้อตั๋วเครื่องบินและจองที่พักไว้ล่วงหน้าแล้ว
“มองว่าขั้นตอนของการจำหน่ายคดีกับเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีบิลลี่ซึ่งเหตุการณ์ผ่านมา 11 ปี มันดูเหมือนกับตัดช่องทางการเยียวยาให้กับญาติ แล้วญาติไม่มีช่องไปเลย ไปไหนอีกไม่ได้แล้วเพราะศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย แล้วศาลแพ่งกลับมาบอกกับญาติหรือโจทก์ทั้ง 7 คือ แม่ ภรรยา และลูกทั้ง 5 ว่ารอผลคดีอาญา ซึ่งโดยปกติแล้วคดีทางแพ่งกับคดีอาญา มีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานไม่เหมือนกัน แต่คดีแพ่งเป็นการพิสูจน์ถึงเรื่องความเสียหาย พิสูจน์ถึงเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้น กักขังหน่วงเหนี่ยว ก็อาจจะเพียงพอสำหรับการให้กรมอุทยานฯ จ่ายเงินได้ ในลักษณะความเสียหายทางแพ่ง”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
พรเพ็ญ ย้ำว่า ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ยังจะนำพยานมายืนยัน และจะขอคัดค้านเพื่อประโยชน์ของโจทก์ และกรณีนี้ผู้เสียหายจากกรณีที่ถูกบังคับให้สูญหายทุกคน เพราะหากมีการตีความเช่นนี้ อาจส่งผลให้เกิดบรรทัดฐานต่อคดีการถูกบังคับให้สูญหายอีกหลายคดี จะไม่ได้รับการเยียวยาทางแพ่งเลย หากคดีอาญาไม่สิ้นสุด ซึ่งคดีการบังคับอุ้มหายในไทยต่างจากคดีในทางสากล ที่ในไทยการนำเจ้าหน้าที่รัฐเข้ากระบวนการยุติธรรมทางอาญายากมาก พร้อมเสนออีกแนวทาง หากกระบวนการทางแพ่งติดขัด สามารถใช้การเยียวยาโดยฝ่ายบริหารได้ เช่นเดียวกับกรณีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี จ่ายเงิน 7.5 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ครอบครัวบิลลี่ ไม่เคยได้รับการเยียวยาจากการกระทำให้บิลลี่หายไป
“ไม่มีคำสั่งอะไรเลย รัฐไม่มีคำสั่ง จะให้เขาไปหาที่ไหนมาเยียวยา ไม่มีมติ ครม. เขาไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ เขาเรียกว่าเป็นผู้ยากไร้ของ พม. ด้วยซ้ำ ซึ่งเคยได้ร้องเรียนตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก ๆ อยู่เลย ตอนนี้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยกันแล้ว 11 ปี ยังหาทางออกเรื่องการละเมิดโดยหน้าที่รัฐแล้วจะต้องเยียวยาไม่ได้ แล้วยังเอาเรื่องนี้ไปแขวนไว้กับคดีอาญา”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุอีกว่า นับแต่บิลลี่ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 57 ครอบครัวอยู่บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อตามหาบิลลี่และตามหาความยุติธรรมเข้าสู่ปีที่ 11 และยังคงตามหาความยุติธรรมให้กับบิลลี่ต่อไป ถือเป็นการต่อสู้อันยาวนานบนเส้นทางที่ยากลำบากในกระบวนการยุติธรรม และในวันที่ 20 ก.พ. 68 จะมีการจัดเวที “เส้นทางการต่อสู้ในปีที่ 11 ของมึนอเพื่อบิลลี่” โดย มึนอ – พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ บิลลี่ พร้อมกับตัวแทนทีมทนายความ จะร่วมเผยรายละเอียดเส้นทางการต่อสู้และความคืบหน้าของคดีแพ่งดังกล่าว