ภาคีนักเรียนสื่อ คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดกิจกรรม #สี่อมีไว้ทำไม เรียกร้องถึงการทำงานของสื่อมวลชน ในการรายงานข่าวสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ใน #ม็อบ28กุมภา
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ภาคีนักเรียนสื่อ และคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรม “สื่อมีไว้ทำไม” ที่ลานกิจกรรมใต้ตึกคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากการรายงานข่าว เหตุสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM (Restart Democracy) หรือ เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยพวกเขาระบุว่า มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งรายงานข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ส่งผลให้การสื่อสารมีเนื้อหาที่บิดเบือน ไม่ครอบคลุม นำมาซึ่งการตั้งคำถามของกลุ่มนักเรียนสื่อถึงการรายงานข่าวของสื่อบางสำนัก ว่าสมเหตุสมผลหรือเป็นไปตามหลักจรรยาบรรณของสื่อมวลชนหรือไม่
ผู้ร่วมกิจกรรมยังให้ความเห็นด้วยว่า สัดส่วนการรายงานฝั่งผู้ชุมนุมมีน้อย โดยได้มีการมีการยกตัวอย่าง การรายงานสถานการณ์ด้านเดียว เช่น การรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บในฝั่งเจ้าหน้าที่ ขณะที่ภาพการใช้กำลังกลับเน้นไปที่กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งสุ่มเสี่ยงทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่บิดเบือน ขณะที่สื่อออนไลน์ กลับรายงานเหตุการณ์ได้คลอบคลุมมากกว่า
พวกเขายังระบุอีกว่า หลังการสลายการชุมนุม ในโลกออนไลน์มีการเผยแพร่คลิปกลุ่มคนที่เข้าไปล้อมรถของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ในลักษณะแสดงความไม่พอใจ แต่เหตุการณ์นี้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ รวมถึงแถลงการณ์ของภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่ประณามการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ก็มีการเรียกร้องให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมา
อิสร์ ทวีผลสมเกียรติ นิสิตเอกวารสารศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้อภิปราย ระบุว่า เข้าใจข้อจำกัดของสื่อในเรื่องของระยะเวลาในการรายงาน และการรายงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น แต่ผู้สื่อข่าวเองก็ควรจะมีการประเมินสถานการณ์โดยภาพรวมได้
“เข้าใจการทำงานในสถานการ์คับขัน มันก็ตัดสินใจยากนะครับ แต่คำถาม คือ ผู้สื่อข่าวแม่นในหลักการพอหรือเปล่า เชื่อในหลักการประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า รู้หรือเปล่าเหตุการณ์โดยรวม คือ อะไร สื่อก็พูดแค่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ถ้าเขาไม่สามารถมองภาพรวมแล้วพูดออกมาได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ผมว่าเขาก็ควรพิจารณานะครับว่าเขาเป็นสื่อที่ดี จริงหรือเปล่า”
นอกจากนี้ เขายังมองว่าข้อจำกัดไม่ใช่เพียงแค่เหตุผลส่วนบุคคล หรือองค์กรเท่านั้นที่มีผลต่อการรายงาน แต่บทบาทของรัฐเองที่อาจจะเข้ามาคุกคามและแทรกแซงให้การทำงานของสื่อไม่เป็นไปอย่างอิสระ เมื่อเสรีภาพของสื่อ เท่ากับเสรีภาพของประชาชน หากสื่อถูกปิดกั้น นั่นหมายถึงประชาชนก็ถูกปิดหูปิดตาเช่นกัน
สำหรับแถลงการณ์จากคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อประณามการคุกคามสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการชุมนุมโดยรัฐ ผ่านการใช้อำนาจอันมิชอบ มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1) ขอให้รัฐยุติการกระทำใด ๆ ที่เป็นการคุกคามหรือบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน 2) สื่อมวลชนต้องดำเนินการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามหลักจริยธรรมสื่อ คือการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือตกอยู่ในอิทธิพล การแทรกแซงใด ๆ ทางการเมือง กลุ่มทุน 3) ให้ กสทช. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และองค์กรกำกับจริยธรรมสื่อที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแล ส่งเสริม และดำเนินการปฏิรูปสื่อโดยปราศจากการครอบงำ และ 4) ในกรณีที่สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงได้ ขอให้อาจารย์ นิสิต นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน แสดงพลังแห่งการสื่อสาร ส่งต่อข้อเท็จจริงและข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชนด้วยตนเอง เพื่อผดุงซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของอาชีพนักสื่อสารมวลชน
ช่วงท้ายของกิจกรรม ยังมีการประกาศว่าการเรียกร้องครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น พร้อมระบุว่าขณะนี้ มีภาคีนักเรียนสื่อหลายมหาวิทยาลัยสนใจร่วมขับเคลื่อน เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น