ผิดหวัง มติ ครม. 23 ก.พ. ผุดร่างกฎหมายที่ยังไม่รับฟังความคิดเห็น เตรียมขอเข้าพบ “วิษณุ เครืองาม” ชี้แจงปัญหา
วันนี้ (2 มี.ค. 2564) สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ แกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ภาคประชาสังคมคือหุ้นส่วนการพัฒนา ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ว่า ความเป็นมาของร่างกฎหมายมาจากการที่รัฐบาลไม่สามารถพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน มติสหประชาชาติโดยเป้าหมายการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (SDGs) ก็สนับสนุนว่ารัฐบาลต้องเป็นหุ้นส่วนสำคัญกับภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเสมอภาค
“ร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องของอำนาจแต่เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม ที่เปิดให้คนเข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนา ไม่ได้แย่งอำนาจรัฐ แต่เป็นการเสริมหนุนซึ่งกันและกัน แต่มีบางส่วนของภาครัฐที่ไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ เข้าใจไปว่าภาครัฐเป็นผู้นำ ผู้สั่ง โดยที่การใช้อำนาจของรัฐนั้นเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง”
สรรพสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่ามีเอ็นจีโอรับเงิน 30 เปอร์เซ็นต์แล้วไม่ทำอะไรนั้น มีกฎหมายฉ้อโกงที่สามารถจัดการได้ ส่วนเรื่องที่ว่ามีบางองค์กรที่รับเงินต่างชาติมานั้น ควรนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้ง และพิจารณาว่าโครงการขององค์กรนั้นๆ มีประโยชน์อย่างไร ซึ่งการคิดว่าประชาชนทุกคนต้องอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เป็นความคิดที่ล้าหลังป่าเถื่อน
สุนี ไชยรส แกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน กล่าวว่า มีการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม มานาน 5-6 ปีแล้ว โดยมีแนวคิดหลักเรื่องความร่วมมือในการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมที่เห็นว่ารัฐต้องมองเอ็นจีโอเป็นหุ้นส่วนในการทำงาน เพื่อร่วมกันทำให้งานในสังคมก้าวเดินไป ด้วยการส่งเสริม ซึ่งจะแตกต่างจากการให้เงินทุนสนับสนุนในลักษณะของแหล่งทุน ไม่ใช่เพียงการให้เงินทุนอุดหนุนเพื่อทำกิจกรรม แต่เน้นการสนับสนุนหลักการและนโยบาย และหากจะให้ทุนบ้างก็เป็นไปเพื่อให้ประชาสังคมเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพตนเองโดยเป็นอิสระจากรัฐ
สุนี กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน ที่ประชาชนร่วมกันยื่นเมื่อ 9 ก.ย. 2563 เป็นการใช้สิทธิทางตรง เพื่อให้มีเสียงในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีบางจุดที่แตกต่างจากร่างของภาคประชาสังคม แต่ระหว่างที่กำลังรอนายกรัฐมนตรีรับรองเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ปรากฏว่าวันที่ 23 ก.พ. 2564 คณะรัฐมนตรีกลับอนุมัติร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งสร้างความสับสน และผิดหลักการ
“เป็นการกระทำที่ทำให้ประชาชนสับสน มีลักษณะของการฉ้อฉล ละเมิดหลักการ เพราะมีร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคมอยู่แล้ว แต่กลับมีร่างกฎหมายที่ไม่เคยมีใครรับรู้ และไม่มีการรับฟังความเห็น ผิดขั้นตอนการร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ และขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องจดทะเบียนก็ได้ แถมยังบังคับให้ต้องจดแจ้งกับกรมการปกครอง มิเช่นนั้นจะมีความผิดทางอาญา”
แกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน ย้ำว่า เนื้อหาร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ยังมีทัศนะที่ล้าหลัง มองเอ็นจีโอเป็นผู้ร้าย พยายามควบคุม ทั้งๆ ที่ ปัจจุบันการรวมกลุ่มเป็นสมาคม มูลนิธิของเอ็นจีโอ มีกฎหมายควบคุมและการตรวจสอบทางบัญชีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศหรือไม่ก็ตาม
กัลยทรรศน์ ติ้งหวัง เครือข่ายผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคสตูล กล่าวว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะทำงานพัฒนา สนับสนุนหน่วยงานรัฐในพื้นที่ กลุ่มประชาสังคมต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศควรจะได้ทำงานอย่างมีอิสระ ซึ่งจากประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคมา กว่า 20 ปี พบว่าคนในพื้นที่มีการทำงานที่คล่องตัว ช่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างมาก
“ในตอนที่เรายื่นร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน ก็หวังว่าเพื่อสนับสนุนการทำงานเครือข่ายและกลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำงานในพื้นที่ ให้ทำงานได้อย่างยั่งยืนและเป็นอิสระและคล่องตัว แต่เมื่อมีร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ออกมาประกบด้วยกลับกลายเป็นคนละเรื่อง แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐและมีลักษณะของการควบคุมไม่ให้โต ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการทบทวน”
พีรพงศ์ จารุสาร ฝ่ายกฎหมาย สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่สงสัยและระแวงคือคำถามเกี่ยวกับ ร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงหากำไรฯ ที่ไม่ทราบมาก่อนว่ามีร่างกฎหมายลักษณะนี้ จนกระทั่งมติ ครม. 23 กุมภาพันธ์ ออกมา เพราะสาระสำคัญที่ต้องมีการจดแจ้งองค์กรกับกระทรวงมหาดไทย ไม่เช่นนั้นมีโทษทางอาญา แสดงว่าเป็นเรื่องที่ล้าหลัง เป็นการเพิ่มภาระประชาชนที่ต้องไปยื่นเรื่องเอกสารซ้ำซ้อน
ผศ.จิตติ มงคลชัยอรัญญา นักวิชาการด้านสังคม กล่าวว่า เมื่อดูแนวคิดในร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรฯ สะท้อนว่าคนที่ร่างกฎหมายนี้มีทัศนคติบางอย่างที่ สะท้อนถึงแนวคิดของระบบราชการที่มีขนาดใหญ่และมีสายการบังคับบัญชา ทุกหน่วยของรัฐแย่งงบประมาณก้อนเดียวกัน
“เราไม่เชื่อว่าทัศนคติของคนจะอยู่กับคนนั้นตลอดชีวิต และทัศนคติจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลใหม่ ผมหวังว่ารัฐเองก็อยากชนะใจประชาชน ภาคประชาสังคมก็มีดี ถ้าเปลี่ยนทัศนคติรัฐก็จะมีภาระทำงานน้อยลงและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น”
ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรพัฒนาเอกชนว่ามีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศนี้พอสมควร ทั้งยังได้สร้างปฏิบัติการไปสู่นโยบายหลายเรื่อง เช่น ป่าชุมชน การจัดการทรัพยากรชายทะเล การอนุรักษ์ช้าง เรื่องคนอยู่กับป่า โดยองค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทนำในการสะสมองค์ความรู้ มีนวัตกรรมจากการทำงานในเรื่องเล็กๆ แล้วพัฒนาขึ้นมา
ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มองว่าหลักคิดของผู้ที่เสนอร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ คือการมองว่าเอ็นจีโอเป็นผู้ร้าย เป็นปัญหา มองจากความหวาดระแวงเป็นศัตรูบ่อนทำลาย ดังนั้น จึงต้องแก้ที่ความคิด ให้เห็นว่าเอ็นจีโอก็เป็นกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจในประเด็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างร่วมกัน หากมองเช่นนี้ก็จะเห็นพลังของประชาชนที่จะลุกขึ้นมา เป็นประชาชนที่ตื่นรู้รับผิดชอบกิจกรรมสาธารณะของประเทศ ต้องมองให้เห็นว่าเป็นเพื่อน ไม่ใช่มาตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบมีกฎหมายต่างๆ กำหนดไว้อยู่แล้ว
สมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หวั่นเกรงว่าเจตนาของการสอดไส้ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ จะเป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ที่ต้องการตรวจสอบการทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
สมชาย กล่าวด้วยว่า การสอดไส้ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ออกมาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่น่าละอายที่สุด และเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประเด็นสำคัญในโลกาภิวัตน์และการสื่อสารในสมัยนี้ ไม่ได้มีเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่ยังมีความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติ ระหว่างกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเด็ก เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย ที่มีการติดต่อสนับสนุน ร่วมมือซึ่งกันและกัน แต่กฎหมายนี้ยังจงใจจำกัดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
ตอนท้ายของการเสวนา เครือข่ายได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า จะขอนัดประชุมกับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ซึ่งมีวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้พิจารณาข้อเสนอของภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ พร้อมจัดเวทีให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเพื่อให้เห็นความสำคัญในเรื่องกฎหมายเข้าชื่อต่อไป
เปิดลำดับความเป็นมาและประเด็นสำคัญ ของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ
– ปี 2558 ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ.2558 แต่ยังพบข้อจำกัดเรื่องอำนาจและขอบเขตการบังคับใช้ ไม่มีสำนักงาน ไม่มีงบประมาณและบุคลากรกำหนดไว้
– กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากตามกฎหมายฉบับต่างๆ กระจายตัวทำงานตามภารกิจของตนเองแบบแยกส่วน และตามกำลังศักยภาพ มุ่งเน้นทำงานกับตัวกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก หรือเป็นการทำงานสร้างกลไก (platform) การรวมกลุ่มประชาชนเพื่อทำงานในชุมชน แต่ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดในไทยเป็นกลไกในการพัฒนาคนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม
– ปี 2559-2563 ภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปทำงานร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และ คสป.ได้เห็นชอบเมื่อกุมภาพันธ์ 2563 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมพ.ศ. …. เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการเสนอเข้า ครม.ในวันที่ 23 ก.พ. 2564
– 9 ก.ย. 2563 ภาคประชาชน 12,299 รายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ… ฉบับประชาชน สู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสถานะ ณ เดือน ก.พ. 2564 อยู่ในระหว่างการรับรองของนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยเป็นร่างกฎหมายการเงิน
– 23 ก.พ. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กร
ที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้รับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมทั้งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน
เป็นการกำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ต้องจดแจ้งกับอธิบดีกรมการปกครอง หากไม่จดแจ้งจะมีโทษทางอาญา การดำเนินกิจกรรมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด
ทั้งนี้ การรับเงินจากต่างชาติมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในประเทศไทยทำได้เฉพาะกิจกรรมที่กำหนดไว้เท่านั้น
ให้เปิดเผยแหล่งที่มา จำนวนเงินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม ยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี และเผยแพร่รายงานการสอบบัญชี
ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ…. ซึ่งผ่านการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว เป็นร่างกฎหมายที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทในการมีส่วนร่วมและเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐและภาคส่วนอื่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นไปที่ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคมให้สามารถดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีธรรมาภิบาล
รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการช่วยจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความเป็นธรรมในสังคม อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ