จับตา กทม. หารือ อนาคตหอศิลปกรุงเทพฯ เปลี่ยนมือหรือไม่

คนแห่ให้กำลังใจแน่น สองวันเกือบ 3 หมื่นคน สะท้อนความต้องการพื้นที่ศิลปะใจกลางเมือง ด้าน มูลนิธิฯ ไม่ติดใจอนาคตบริหารร่วม กทม.

8 มี.ค. 2564 – หากนับจากวันนี้ เหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 เดือน ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะสิ้นสุดสัญญาในการบริหารจัดการกับทาง กทม. ในเดือนสิงหาคม 2564 รวมเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งทีมผู้บริหารมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ยังคงรอคำตอบที่ชัดเจน ว่าจะเดินต่อร่วมกันในทิศทางไหน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นสำคัญที่อาจทำให้ทีมบริหารต้องเปลี่ยนมือ เกิดจากเงินสนับสนุนที่ กทม. ไม่มอบให้หอศิลปกรุงเทพฯ มานาน 4 ปี เปลี่ยนเป็นช่วยเหลือเพียงค่าน้ำค่าไฟ ราวปีละ 8 ล้านบาท กระทบต่อการบริหารจัดการมาโดยตลอด เป็นที่มาของการจัดกิจกรรมระดมทุนทุกปี

ล่าสุด นิทรรศการ “Postcards from a Stranger” ส่งกำลังใจให้คนแปลกหน้าผ่านโปสต์การ์ด สร้างปรากฏการณ์ยอดผู้เข้าชมหอศิลปกรุงเทพฯ ทะลักวันละ 13,000 – 14,000 คน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในช่วงวันหยุด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เพียงแลกเปลี่ยนโปสต์การ์ดกัน แต่ยังรวมถึงการเขียนข้อความส่งกำลังใจให้มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ด้วย ส่วนหนึ่งเพราะผู้เข้าชมนิทรรศการเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องการให้พื้นที่การแสดงออกทางศิลปะ ยังบริหารจัดการด้วยศิลปินที่มีความรู้ และเปิดกว้างทางความคิด ซึ่งในกรุงเทพฯ ยังมีความต้องการพื้นที่ในลักษณะนี้อีกจำนวนมาก

“พื้นที่ทางศิลปะ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสื่อสารให้สาธารณะรู้ว่าปัญหาสังคม การเมืองในเวลานั้นเป็นอย่างไร และเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์”

“กังวลว่าพื้นที่แบบนี้จะหายไป เพราะในกรุงเทพฯ ถ้าบอกว่าไปดูงานศิลป์ ก็ต้องนึกถึงหอศิลปกรุงเทพฯ”

“ประเทศไหน ๆ หอศิลป์ก็ไม่ใช่พื้นที่หากำไร มันเป็นพื้นที่ผ่อนคลายของประชาชนที่ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ควรสนับสนุน”

ด้าน ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการและกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องขอต่อสัญญากับทาง กทม. ออกไปอีก 10 ปี ซึ่งจะต้องมีการประชุมระหว่างบอร์ดบริหาร และ กทม. เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน

ส่วนเรื่องงบประมาณอุดหนุน หอศิลปกรุงเทพฯ ไม่ได้รับจาก กทม. ตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันทาง กทม. ช่วยเหลือเฉพาะในส่วนของค่าน้ำและค่าไฟปีละประมาณ 8 ล้านบาท เท่านั้น โดยใน 1 ปี หอศิลปกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่าย 70 ล้านบาท แต่เนื่องจากหอศิลปกรุงเทพฯ  เป็นพื้นที่เปิดให้ทุกคนเข้าชมฟรี สามารถหารายได้จากการเช่าพื้นที่ อยู่ที่ปีละ 30 ล้านบาทเท่านั้น  เพื่อช่วยให้หอศิลปกรุงเทพฯ สามารถบริหารจัดการ และพัฒนา ต่อยอดนิทรรศการใหม่ ๆ ต่อได้ จึงต้องจัดกิจกรรมระดมทุนในหลายรูปแบบ จากหลายเครือข่าย

ขณะเดียวกัน วิกฤตที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นโอกาส ในการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจระหว่างมูลนิธิฯ และ กทม. ว่าอนาคตของหอศิลปกรุงเทพฯ จะเดินต่อในรูปแบบไหน แต่ส่วนตัวเห็นว่าจะต้องมีนโยบายจ่ายงบประมาณอุดหนุน ในรูปแบบคล้ายกับ โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ในสังกัดของ กทม.

“ส่วนตัวเห็นด้วยหากจะมีคนของ กทม. เข้ามาอยู่ในบอร์ดบริหาร เพราะจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็เป็นในรูปแบบนั้น เพื่อความโปร่งใส คล่องตัวในการจัดกิจกรรม แต่ไม่ใช่การควบคุมหรือเซนเซอร์ ศิลปิน ผลงาน ที่สำคัญ คือ ต้องมาวางนโยบายร่วมกันให้ชัดเจน เพื่อให้ไม่ว่ารัฐบาล หรือผู้บริหารชุดไหนจะเข้ามาบริหาร จะต้องยึดตามนโยบายนี้ เพราะหอศิลปกรุงเทพฯ ก็เป็นหมือนลูกที่ กทม. ทำคลอดออกมา”

The Active ได้รับคำตอบจากกรุงเทพมหานคร ว่า ทางผู้บริหารได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูล และจะมีการเรียกประชุมในภาคส่วนของ กทม. ในวันที่ศุกร์ที่ 12 มี.ค. 2564 ทั้งในเรื่องของการต่อสัญญา และระเบียบของงบประมาณอุดหนุน ว่าจะสามารถแก้ไขให้กับหอศิลปกรุงเทพฯ ได้อย่างไรบ้าง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน