นักวิชาการวนศาสตร์ชุมชนอาวุโส ยัน วิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ เอื้ออนุรักษ์ป่ามากกว่าทำลาย ด้าน อดีตข้าราชการป่าไม้ วอนสังคมเข้าใจสถานการณ์ประชากร ทำป่าเสื่อมโทรมพุ่ง
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรกรศาสตร์ (บางเขน) วงเสวนา “ไร่หมุนเวียน กับการจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้” จัดโดยคณะวนศาสตร์ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า – ประเทศไทย (RECOFTC – Thailand) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) มีนักวิชาการและอดีตข้าราชการร่วมถกแนวทางการทำไร่หมุนเวียน ท่ามกลางประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ผืนป่ามีเท่าเดิม
สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโสวนศาสตร์ชุมชน กล่าวว่า การทำไร่หมุนเวียนเป็นรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และเป็นระบบการทำเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นระบบที่ไม่ได้ทำลายป่า แต่เป็นนิเวศที่พึ่งพาหมุนเวียนซึ่งกันและกัน พื้นที่ที่ถูกถางทำไร่ จะมีแร่ธาตุอาหารไม่ต้องใช้สารเคมี ทิ้งไร่ไว้ 10 ปี ก็จะกลับกลายเป็นป่าเหมือนเดิม
“กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งมีวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ผืนป่า ไม่เฉพาะเพียงแค่การทำไร่หมุนเวียนแต่รวมไปถึงป่าสะดือทารก ป่าช้า ที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ที่ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ป่าไปพร้อมกัน”
ด้าน ชลธิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ให้ข้อมูลว่า ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากสถานการณ์ประชากรที่เพิ่มขึ้น ทั้งสังคมเมืองและสังคมชนบททำให้พื้นที่ป่าถูกใช้ประโยชน์และกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบัน มีกว่า 4,000 ชุมชน ที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ 4.2 ล้านไร่ ถูกใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตร ขณะเดียวกันอีก 12 ล้านไร่นอกเขตป่าอนุรักษ์ ก็ถูกใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรเช่นเดียวกัน ในจำนวนนี้ 4 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ
“การทำไร่หมุนเวียนที่ยอมรับได้ คือ การทำไร่เพื่อยังชีพเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่า การทำไร่หมุนเวียน ที่ต้องเผาไร่ เป็นสาเหตุหนึ่งของ PM 2.5 และหากทำในเชิงอุตสาหกรรมต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก”
ด้าน จตุพร เทียรมา จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า ที่ผ่านมาการทำไร่หมุนเวียน ถูกตีตราเป็นภาพของการตัดไม้ทำลายป่าและเผาป่า แต่การทำไร่หมุนเวียนมีการทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟลุกลามไปในวงกว้าง เป็นการเกษตรผลิตแบบเชิงซ้อน ที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์นิเวศ ไม่แยกการทำมาหากิน ออกจากระบบนิเวศเหมือนระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงทำให้สังคมมีมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับเรื่องการจัดการป่าไม้
กะเหรี่ยงบางกลอยยังหวังทำไร่หมุนเวียนบนใจแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวน 6 คน แยกออกจากการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟที่ปักหลักอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล มาร่วมฟังการเสวนาด้วย พวกเขายังคงมีความหวังว่าจะได้กลับไปทำไร่หมุนเวียนบนใจแผ่นดิน ในขณะที่ข้อสรุปจากวงเจรจา ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนของ พีมูฟ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะการเตรียมตั้งคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ในสัปดาห์หน้า
พชร คำชำนาญ หนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย กล่าวว่า วงเจรจาเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ได้มอบให้ ประสาน หวังรัตนปราณี อดีตอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ช่วยคลี่คลายคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องทั้ง 30 คน ขณะที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งย้าย มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไปปฏิบัติงานในพื้นที่อื่นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกลุ่มพีมูฟได้เสนอชื่อ อิทธิพล ไทยกมล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานการจัดการและพัฒนาป่าอนุรักษ์ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช จากส่วนกลาง ลงไปปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจากที่ผ่านมาสามารถประสานงานร่วมกับทางเครือข่ายฯ ได้ดีมาตลอด พร้อมกับจับตาดูเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานระดับปฏิบัติการ จะมีท่าทีแข็งกร้าวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เช่นที่ผ่านมาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งข้อเสนอที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่าไม่สามารถทำได้ นั่นคือการให้ชาวบ้านกลับไปอยู่ในพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหลักที่เคลื่อนไหว โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ พลเอก ประวิตร จะมีคำสั่ง ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ คาดว่า การประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า จะมีความชัดเจน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมการ