นายกฯ และคณะรัฐมนตรี ยกเลิกฉีดวัคซีนโควิด-19 จาก แอสตราเซเนกา ด้าน “นพ.ยง” คาด ชะลอ ไปแค่ 1-2 สัปดาห์เพื่อรอผลสืบสวน
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์แถลงข่าว ยกเลิกการฉีดวัคซีนให้แก่ นายกรัฐมนตรีและ คณะรัฐมนตรี กระทันหัน จากกำหนดการเดิมที่จะฉีดในวันนี้
ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงานการบริหารจัดการ การให้วัคซีนป้องกัน โควิด 19 กล่าวว่า เมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) มีการประกาศจากประเทศเดนมาร์ก ออสเตรีย รวม 6 ประเทศในยุโรป ชะลอการฉีดวัคซีน แอสตราเซเนกา เนื่องจากพบกรณีเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำ สำหรับ ประเทศไทยจึงต้องนำมาพิจารณาชะลอไปด้วย เนื่องจากทางกระทรวงสาธารณสุขหวังให้วัคซีน โควิด-19 มีความปลอดภัยที่สุดหากพบอาการไม่พึงประสงค์ ก็ควรจะรอฟังผลและสืบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ประเทศไทยก็เลยใช้โอกาสนี้ชะลอไปก่อน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าวัคซีน แอสตราเซเนกา ABV5300 จำนวน 1 ล้านโดสที่ฉีดใน 6 ประเทศยุโรป กำลังได้รับการสืบสวนเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงดังกล่าวหรือไม่ ส่วนประเทศไอร์แลนด์ที่ประกาศชะลอการฉีดวัคซีน ไม่ได้เป็นเพราะพบผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตัน แต่เพื่อรอผลการสืบสวน ทั้งนี้ สำนักงานด้านการแพทย์ของสหภาพยุโรป (EMA) ยืนยันว่า วัคซีน แอสตราเซเนกา มีความปลอดภัย แต่เมื่อมีเหตุการณ์ก็จะลงไปสืบค้นว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์ต้องมีการสอบสวน แต่อธิบายง่าย ๆ ว่าการที่ลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นได้เมื่อเรานั่งอยู่เฉย ๆ และไม่ได้ขยับตัวเป็นเวลานาน ลิ่มเลือดจะแข็งตัวในหลอดเลือดดำ แล้วมีโอกาสหลุดเข้าไปในปอด อันตรายถึงชีวิตอุบัติการณ์นี้จะพบในคนยุโรปและแอฟริกาใต้มากกว่าเอเชียโดยปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อมีอุบัติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ก็ต้องชะลอเพื่อพิสูจน์ วัคซีนว่าทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายหรือไม่ ยกตัวอย่างกรณีวัคซีนของไฟเซอร์ที่มีผู้สูงอายุเสียชีวิต 28 คนก็มีการตรวจสอบลงลึกแล้วปรากฏว่า ไม่เกี่ยวข้องก็เดินหน้าฉีดต่อ
“การชะลอการฉีดวัคซีนของ แอสตราเซเนกา ในประเทศไทยครั้งนี้ก็เพื่อรอผลพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะของยุโรป ที่ฉีดก็ผลิตในโรงงานจากยุโรป ส่วนของเราผลิตจากโรงงานประเทศเกาหลีใต้ แล้วยังไม่ได้บอกว่ามีข้อบกพร่องอะไร อีกทั้งประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่เสี่ยงสูง อาจจะมีการชะลอไปก่อน 5 วัน 7 วันหรือ 2 สัปดาห์ก็ไม่เป็นไร”
ด้าน พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล บอกว่าการชะลอออกไปเป็นสิ่งที่คณะอาจารย์คิดตรงกัน แม้จะคิดเหมือนกันว่าผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตัน ไม่น่าจะเกี่ยวกับวัคซีน เพราะไม่เคยเจอผลข้างเคียงของวัคซีนอื่น ๆ ที่ทำให้ลิ่มเลือดอุดตัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็ต้องรอสืบสวนก่อน ซึ่งนับเป็นข้อดีของระบบการรายงานและเฝ้าระวังติดตามการฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัย การหยุดฉีดวัคซีนชั่วคราวก็เคยมีมาแล้วกับวัคซีนอื่น ๆ เมื่อเกิดผลข้างเคียง ก็หยุดฉีดเพื่อการสอบสวน หากพบว่าไม่เกี่ยวข้องก็ฉีดต่อ