สมาคมผู้กำกับฯ ออกโครงการมอบทุน ดันผู้กำกับทั้งหน้าใหม่-หน้าเก่า ในงาน “14 ปี ฝูงบินหนังไทย” พร้อมจัดทำเว็บไซต์โชว์คลังข้อมูล หนังไทย-ทีมงานคุณภาพ ควบคู่ การทำหลักสูตรผู้กำกับภาพยนตร์บนแพลตฟอร์ม “OFOS” หวังยกระดับวงการสู่ซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก ในช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงก่อนมี พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่
4 เม.ย.2568 วงการภาพยนตร์ไทยคึกคักกับการรวมตัวของบรรดาผู้กำกับ นักแสดง และบุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทย มาร่วมแสดงความยินดีกับ “หลานม่า” ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 14 (Thai Film Director Awards 14) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “14 ปี ฝูงบินหนังไทย”
งานในปีนี้มีภาพยนตร์ไทยที่ฉายในโรงและทางสตรีมมิ่งตลอดปี 2567 ทั้งสิ้น 46 เรื่องที่เข้าชิงรางวัล และใช้การตัดสินระบบ One Man One Vote ที่สมาชิกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ของประเทศไทยทุกคนจะมีสิทธิลงคะแนนโหวตได้เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการดำเนินงาน และวิสัยทัศน์จากองค์กรต่าง ๆ ที่ผลักดันวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ซอฟต์ พาวเวอร์ จากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงกรุงเทพมหานครเพื่อสนับสนุนงานวงการภาพยตร์และกองถ่าย ให้ผลงานประเทศไทยไปไกลสู่เวทีโลกได้
นโยบายติดปีก ผู้กำกับ กับวงการภาพยนตร์
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวในช่วงเปิดงาน ถึงการพัฒนาศูนย์ One Stop Service หรือ BMFCC (Bangkok Movie and Film Coordination Center) เพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์และกองโปรดักชันต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทั้งกองถ่ายไทยและต่างประเทศ
“ในปี 2567 มีผู้เข้ามาจองพื้นที่ผ่านแพลตฟอร์ม One Stop Service 144 คน และจองใช้พื้นที่ทั้งหมด 273 ครั้ง ผมจะมาอัพเดทในเวทีนี้ทุก ๆ ปีว่ามีอะไรดีขึ้นบ้าง ถ้ามีข้อเสนอแนะ อยากให้ปรับปรุงอะไร ก็เดินมาบอกผมได้เลย”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้กล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนงบประมาณการผลิตและการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ทั้งการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (มะเดี่ยว) ผู้กำกับภาพยนตร์ รักแห่งสยาม และ ตาคลี เจเนซิส ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเป็นปีแรก กล่าวเปิดงานด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจในพัฒนาการของวงการภาพยนตร์ไทยตลอด 14 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการกล่าวถึงงานส่วนต่าง ๆ ของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ของประเทศไทย
รวมถึงการทำหลักสูตรผู้กำกับภาพยนตร์บนแพลตฟอร์ม “OFOS” หรือ One Family One Soft Power ของ THACCA โดยภายในเว็บไซต์จะมีบทเรียนออนไลน์ที่มีเหล่าผู้กำกับมาร่วมกันให้ความรู้ รวมถึงวิดีโอจากงานเสวนาของสมาคมผู้กำกับ ที่พูดถึงเรื่องอาชีพผู้กำกับและผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์
ในส่วนของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย ก็ได้มีการเปิดเว็บไซต์ https://www.thaifilmdirectors.com เป็นการรวบรวมฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ปี 2530
“เราเพิ่งเปิดเว็บไซต์ เวลาเราไปต่างประเทศมักจะมีคนถามว่า หนังเรื่องนี้ใครเป็นคนทำ ใครกำกับ ก็เลยเปิดฐานข้อมูลเรื่องภาพยนตร์ไทยที่แข็งแรงและมีมากที่สุด”
คลังข้อมูลเรื่องหนังไทยบนเว็บไซต์จะมีข้อมูลของภาพยนตร์ มีข้อมูลทีมงาน และผู้กำกับที่เป็นสมาชิกจะสามารถส่งผลงานที่เคยทำมาแปะไว้ได้
“คลังข้อมูลนี้ถือเป็นโอกาสที่ผู้กำกับภาพยนตร์จะได้มาค้นหาและเจอชื่อทีมงานที่เก่ง ๆ จากผลงานเรื่องต่าง ๆ”

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงทุนสำหรับหนังสั้นในวิชาเรียนสำหรับนิสิต นักศึกษา วิชาภาพยนตร์ทั่วประเทศ ในชื่อ TFDA THESIS FUND ที่เป็นการสนับสนุนงบประมาณทำภาพยนตร์
“ทางสมาคมจะมอบทุนสำหรับทำหนังสั้น ให้นักศึกษาได้เรียนจบ โดยจะให้ทุนละสองหมื่นบาท รอบทุนละ 10 โปรเจกต์ และมีโอกาสขยายทุนไปเรื่อย ๆ”
“หลังผลิตผลงานเสร็จแล้ว ก็จะนำมาจัดแสดงผลงานในปีต่อไป ช่วยให้นักเรียนฟิล์มเข้าวงการง่ายขึ้น ทำหนังคุณภาพดีขึ้น และคิดว่าจะขยายทุนให้ได้มากขึ้น รวมถึงช่วยส่งผลงานหนังเด็กไทยไปเทศกาลในต่างประเทศ”
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยยังคงมีโครงการ TFDA Development Fund ที่คล้ายคลึงกับทุนทำ Thesis แต่เป็นกองทุนให้ผู้กำกับในวงการภาพยนตร์ไทยได้ไปพัฒนาโปรเจกต์ ด้วยการมอบทุนก้อนแรก 6 หมื่นบาทสำหรับ 6 โปรเจกต์ในแต่ละรอบทุน เพื่อทำ Pitch Deck สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาว ในรูปแบบบันเทิงคดี ที่นำเสนอเป็นภาษาไทยเท่านั้น เป็นนโยบายที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กำกับ ส่งเสริมภาคการลงทุนในเศรษฐกิจสร้างสรรค์
หนังไทยปี 2567 บินไปไกลแค่ไหน
ผู้ที่ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 14 รางวัลส่วนใหญ่ตกเป็นของค่าย GDH จากผลงานคุณภาพระดับนานาชาติอย่าง “หลานม่า” ตามด้วย “วิมานหนาม”
รางวัลเชิดชูเกียรติ
- รางวัลดวงกมล ลิ่มเจริญ “นักทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าจับตา” (The Most Promising Filmmaker Award): โรงเรียนเจริญศิลป์ศึกษา “โพธิ์คำอนุสรณ์” จังหวัดสกลนคร ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ฮักแพง แกงหวาย”
- รางวัลเชิดชูเกียรติ บุคคลหรือหน่วยงานที่มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ไทย: ชมรมวิจารณ์บันเทิง
- รางวัลเชิดชูเกียรติ ผู้กำกับผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ไทย: สมเดช สันติประชา ผู้กำกับชั้นบรมครู
ในระหว่างการขึ้นรับรางวัล สมเดช สันติประชา เอ่ยถึงความพยายามในการผลักดัน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ และรู้สึกดีใจและตื่นเต้นกับอนาคตของวงการภาพยนตร์ไทย
“ผมสู้เพื่อ พ.ร.บ. นี้มา 40 50 ปีแล้ว ต่อสู้เพื่อ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่จะได้มาแทนฉบับเก่า เมื่อก่อนก็ยังไม่เห็นวี่แวว จนมาถึงยุครุ่นน้อง ๆ ที่เริ่มมีสมาพันธ์ จนมาถึงการมีสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.ก็สัมฤทธิ์ผลในยุคนี้ ผมดีใจมากครับ” สมเดช กล่าว
“ผมยังคงเฝ้ามอง หวังว่าซักวันหนึ่ง อาจจะมีคนใดคนหนึ่งนำแสงสว่างมาทำให้ภาพยนตร์ไทยเทียบเท่ากับนานาประเทศได้ ผมคิดว่า มันกำลังจะมาถึงแล้วครับ”
รางวัลหลัก
- รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม [หลานม่า : พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ , ทศพล ทิพย์ทินกร] รางวัลรอง: [วิมานหนาม : บอส กูโน , ณรณ เชิดสูงเนิน , การะเกด นรเศรษฐาภรณ์]
- รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม [หลานม่า : บริษัท อิทธิปาทา จำกัด , ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค] รางวัลรอง: [วิมานหนาม : บริษัท อิทธิปาทา จำกัด , ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค , พิริยกร คชฎร , รุ่งโรจน์ อุ่นวงศ์]
- รางวัลถ่ายภาพหรือผู้กำกับภาพยอดเยี่ยม [หลานม่า : บุณยนุช ไกรทอง] รางวัลรอง: [วิมานหนาม : ตะวันวาด วนวิทย์]
- รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม [หลานม่า : ใจเทพ ร่าเริงใจ] รางวัลรอง: [วิมานหนาม : หัวลำโพง ริดดิม, วิชญ วัฒนศัพท์ ]
- รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม [สีดา พัวพิมล : วิมานหนาม] รางวัลรอง: [สฤญรัตน์ โทมัส : หลานม่า]
- รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม [ภูมิภัทร ถาวรศิริ : วัยหนุ่ม 2544] รางวัลรอง: [พงศธร จงวิลาส : หลานม่า]
- รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม [อุษา เสมคำ : หลานม่า] รางวัลรอง: [อิงฟ้า วราหะ : วิมานหนาม]
- รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม [พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล : หลานม่า] รางวัลรอง: [ณัฏฐ์ กิจจริต : วัยหนุ่ม 2544]
- รางวัลทีมนักแสดงยอดเยี่ยม [วัยหนุ่ม 2544 : ณัฏฐ์ กิจจริต , อารักษ์ อมรศุภศิริ , อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี , เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี , ทศพล หมายสุข , ภูมิภัทร ถาวรศิริ , อรุณพงศ์ นราพันธ์ , สหัสชัย ชุมรุม , อรัชพร โภคินภากร] รางวัลรอง: [หลานม่า : พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล , อุษา เสมคำ , สัญญา คุณากร , สฤญรัตน์ โทมัส , พงศธร จงวิลาส , ฮิมาวาริ ทาริจิ , ต้นตะวัน ตันติเวชกุล]

- รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม [หลานม่า ผู้กำกับ : พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 : ปรม มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้กำกับ 2 : กานต์สิรี กูรโสภณ ผู้ช่วยผู้กำกับ 3 : ศศิพร จินะกาศ] รางวัลรอง: [วิมานหนาม ผู้กำกับ : บอส กูโน ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 : รัตติญา หนูเที่ยง ผู้ช่วยผู้กำกับ 2 : วัจน์กร หาญกุล]
- รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม [หลานม่า] รางวัลรอง: [วิมานหนาม]
วงการภาพยนตร์ไทย บินไปทางไหนต่อ?
ในขณะที่วงการภาพยนตร์ไทยกำลังเฉลิมฉลองความสำเร็จผ่านงานประกาศรางวัล “14 ปี ฝูงบินหนังไทย” อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างผ่านร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ที่มุ่งยกระดับวงการสู่การเป็น Soft Power ระดับโลก
งานประกาศรางวัลที่จัดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ภาครัฐให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งสอดคล้องกับสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ที่กำหนดให้มีการจัดทำนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศทั้งด้านการเงินและด้านอื่นๆ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรการใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ อย่างเช่น Cash Rebate ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ผลิตไทยมากพอ แต่การมีพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในระยะยาว ที่จะสนับสนุนโครงการหรือความพยายามจากภาคส่วนอื่น ๆ อย่าง กทม.หรือภาคเอกชนเอง ที่ผลักดันวงการภาพยนตร์กันอย่างเต็มที่มาโดยตลอด
ปี 2567 เป็นปีที่วงการภาพยนตร์ไทยมีความหลากหลายทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ มีทั้งภาพยนตร์แนวดราม่า ย้อนยุค สยองขวัญ และโรแมนติก ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั้งในและต่างประเทศ
ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในปีนี้ รวมทั้งรงวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ได้แก่ “หลานม่า” 11 รางวัล “วิมานหนาม” 8 รางวัล และ “วัยหนุ่ม 2544” 3 รางวัล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพและความนิยมของภาพยนตร์ที่ผลิตโดยคนไทยเหล่านี้ในวงการ ตอกย้ำด้วยภาพยนตร์ “หลานม่า” ที่ได้เข้ารอบ shortlist สาขาภาพยนตร์นานาชาติในงานประกาศรางวัล Oscars ที่ผ่านมา รวมถึงการตอกย้ำความสำคัญของการเล่าประเด็นสังคมผ่านภาพยนตร์ อย่างการพูดถึงประเด็นสมรสเท่าเทียมในภาพยนตร์ “วิมานหนาม”
งานประกาศรางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานโดดเด่นในวงการภาพยนตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แสดงความเติบโตก้าวหน้าของวงการภาพยนตร์ไทย รวมถึงเครื่องมือที่พร้อมจะมาสนับสนุนผู้กำกับทั้งหน้าเก่าและใหม่ ไปจนถึงนิสิตนักศึกษาที่มีความฝันอยากเป็นผู้กำกับ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรวมถึงผลงานภาพยนตร์คุณภาพดีให้คนไทยและต่างประเทศได้รับชมร่วมกันอีกต่อไป