“ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ภายใต้กลไกรัฐสภา? ถอดรหัสคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “ผูกหรือคลายปมการเมือง”
หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ผลการลงมติวินิจฉัยคำร้อง ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน และสมชาย แสวงการ สมาชิกรัฐสภา ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดหน้าที่และอำนาจรัฐสภาในการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
11 มี.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก (8:1) วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีอำนาจหน้าที่และอำนาจจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง…” อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ไฟเขียวเปิดโอกาสให้ร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ยังมีเงื่อนไขทางการเมืองที่ต้องจับตา เพราะนี่อาจเป็นเหตุผลที่เปลี่ยนแปลงทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
Active Talk ชวนวิเคราะห์เรื่องนี้กับ รศ.สุขุม นวลสกุล นักรัฐศาสตร์ นักวิเคราะห์การเมือง และอดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง และ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักนิติศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ทั้ง 2 คน เห็นตรงกันว่า ด่านแรกก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอำนาจสถาปนาอย่างแท้จริง รัฐสภา จะต้องเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผ่านวาระ 3 เพื่อนำไปสู่การลงประชามติ ถามประชาชนว่า ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ตามมาตรา 256 (8) แล้วจึงค่อยเริ่มต้นตั้ง ส.ส.ร. แต่หลายปัจจัยทางการเมืองในเวลานี้ อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการลงมติของประชาชน ไม่สามารถเดินตามเส้นทางนี้ได้เสมอไป
คำถาม คือ จะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ “หากศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียว แต่รัฐสภาฯ ไฟเหลือง หรือไฟแดง? ต่อการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการลงมติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจากประชาชน …” สิ่งที่ต้องทำ คือ การจับตาอำนาจของรัฐสภา
ปัดตกวาระ 3 “ยื้อเวลา” ด้วยสัญญารัฐบาล
รศ.สุขุม นวลสกุล ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ทำนายว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ รัฐบาลจะค่อย ๆ ให้คำสัญญา เรื่องการลงประชามติของประชาชน โดยตีความคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการย้อนไปเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 ใหม่ หรือภาษาชาวบ้านคือ “ยื้อเวลา” ขณะที่แรงบีบจากการเมืองภาคประชาชนบนท้องถนนก็อาจใช้ไม่ได้ผล
คำว่า “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญ และเป็นอำนาจพื้นฐานของปวงชน แต่หากผลประชามติออกมาว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขแล้ว แต่เสียงส่วนใหญ่ 84 เสียงจาก ส.ว.ในรัฐสภา ไม่รับ
“อำนาจสถาปนาจะเป็นของใคร ?” เพราะมองกันตามโลกความจริง ส.ส.รัฐบาลไม่อยากเปลี่ยนหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะพรรคใหญ่ พรรคแกนนำ รศ.สุขุม มองว่าเป็นเรื่องที่แก้ได้ยาก หรือแก้ไม่ได้เลย
“…แล้วมันก็จะเป็น โลกทิพย์ กันไปเรื่อย ๆ หาเหตุให้ร่างฯ ใหม่ ไม่ไปต่อเรื่อย ๆ เชื่อว่า ส.ว. งดออกเสียง อย่างไรก็แก้ไม่ได้…”
โลกทิพย์-แก้ รธน. บนเงื่อนไขผ่านวาระ 3
ต่างจาก ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะนักนิติศาสตร์ ที่มองว่า บทเรียนในอดีตทำให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังไฟเขียวให้ร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไข รัฐสภาต้องผ่านวาระ 3 เท่านั้น
“อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติ ผู้มีอำนาจสถาปนามากกว่าประชาชน คือ ทหาร ปฏิวัติรัฐประหารใหม่ ก็ได้ร่างฯ ใหม่ทุกที…”
ผศ.ปริญญา ระบุว่า การสถาปนาโดยประชาชน คำนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง คือช่วงที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2492 กับ ปี 2540 ตอนนั้นมีการแก้รัฐธรรมนูญโดยให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ทั้ง 2 ครั้ง ไปไม่ถึงการลงประชามติจากประชาชน
ขณะที่ในปี 2555 ก็เคยเกิดกรณี รัฐสภา ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และศาลฯ ใช้คำว่า “ควร” ถามประชาชนก่อนว่าจะร่างใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญ 2550 ได้หรือไม่ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติจากประชาชน โดยใช้คำเดียวกัน คือ “ประชาชนมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”
ผศ.ปริญญา จึงมองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณไฟเขียวเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็น คือ ที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีเพียงการขอให้แก้ไขมาตรา 256 เท่านั้น ซึ่งหากอ้างตามมาตรา 256(8) จะพบว่าหากต้องการแก้ไขมาตรา 256 จะต้องทำประชามติ จึงมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านวาระ 3 แล้วถามประชาชนว่า ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ก่อนจะนำมาสู่การตั้งรูปแบบของ ส.ส.ร.
สรุป คือ ต้องถาม ประชาชนก่อนจึงจะเริ่มร่างใหม่ ถ้าประชาชนไม่เอา ก็ร่างใหม่ไม่ได้ แม้จะมองโลกทิพย์ไม่ร้ายเท่า รศ.สุขม แต่ ผศ.ปริญญา ก็ยอมรับว่า เหตุผลทางการเมือง เช่น สัญญาจากพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีจุดยืนและยืนยันจะแตกหัก ถอนตัว หากรัฐบาลไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจกลายเป็นอีกเหตุผลที่ชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 จะเกิดขึ้น หรือเป็นโมฆะ โดยย้ำว่า รัฐสภา คงต้องรับผิดชอบผลของการตัดสินใจ และไม่ควรทำแท้งตัวเองก่อน ไม่ด้อยค่า ด้วยการปัดตกวาระ 3
ขั้นตอนต่อไปทุกฝ่ายจับตาว่า “รัฐสภา” จะโหวตลงมติวาระที่ 3 หรือไม่ จะยื้อเวลา หรือตีตก หรือพักไว้ก่อน ด้วยเงื่อนปมทางการเมือง ก็ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะประโยคที่ว่า “ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะนำมาสู่โลกทิพย์ หรือโลกความจริงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง…