ควันหลง คลับเฮาส์ “อนุทิน-ธนาธร” เคลียร์ปมแผนจัดการวัคซีน ใครโกหกประชาชน ?
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse) หัวข้อ “วัคซีนไทยควรไปต่อหรือพอแค่นี้” ว่า การเลื่อนฉีดวัคซีน แอสตราเซเนกา ล็อตแรก หลังพบกรณีลิ่มเลือดอุดตันทำให้ 6 ชาติสหภาพยุโรป ประกาศชะลอไปก่อนจะไม่กระทบต่อแผนกระจายวัคซีนของไทยที่ตั้งเป้าหมายฉีดครบ 50% ภายในสิ้นปี 2564 นี้อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นการฉีดวัคซีนระยะ 2 ที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากแอสตราเซเนกา เช่นกัน ในเดือนมิถุนายนจำนวน 5 ล้านโดส หลังจากนั้น จะฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส ไปจนครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564
“ระหว่างทางยังต้องมีการจัดหาวัคซีนเพิ่ม เนื่องจากคาดว่าวัคซีนมีระยะสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 6 เดือนต้องฉีดซ้ำ และเปิดทางให้กับวัคซีนทุกยี่ห้อไม่ใช่การแทงม้าตัวเดียวเหมือนอย่างที่ถูกกล่าวหา โดยได้มอบหมายให้ทาง อย. เร่งรัดในการขึ้นทะเบียนให้กับบริษัทวัคซีนที่มาขอขึ้นทะเบียน หากล่าช้าก็คาดโทษทาง อย. แล้วด้วย”
ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งเข้าร่วมแสดงความเห็นในคลับเฮาส์ ระบุว่า นายอนุทินไม่พูดความจริงกับประชาชน โดยยกแผนจัดการวัคซีนที่กรมควบคุมโรคเคยไปชี้แจงต่อกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่าไทยจะฉีดวัคซีน เสร็จสิ้น ในปี 2566 ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่ อนุทิน ระบุว่า แอสตราเซเนกา มีความพร้อมส่งได้ทันตามกำหนด และไทยจะฉีดวัคซีนได 50-60 ล้านโดสในปี 2564
แต่ก็ยอมรับว่า สายเกินไปที่จะล้มดีลที่รัฐบาลไทยทำไว้กับเอกชน แต่มีข้อเสนอถึงรัฐบาล ขอให้มีการเตรียมแผนสำรองเอาไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่นเดียวกับที่ต้องมีการชะลอการฉีดวัคซีนจากเหตุนี้ เนื่องจากไทยต้องพึ่งวัคซีนจาก แอสตราเซเนกา ถึง 96% จึงจำเป็นต้องทำ Scenario planning เช่นถ้า 3 เดือนเกิดการล่าช้าจะเยียวยาประชาชนอย่างไรหรือหากขัดข้องทางเทคนิคจะต้องมีการ Backup ซื้อเครื่องใหม่มาเตรียมไว้หรือไม่
ตอนนี้ยังไม่เห็น risk management หรือ แผนบริหารจัดการความเสี่ยง ของรัฐบาลในการกระจายวัคซีน ซึ่งต้องยอมรับว่าหากฉีดวัคซีนช้าไป 1 เดือนก็จะส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อให้การฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และครอบคลุมประชากรจำนวนมากพอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด
ธนาธร ขอรัฐชี้แจงปม สยามไบโอไซเอนซ์
ธนาธร กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลให้ข้อมูลว่า แอสตราเซเนกา เป็นผู้เลือกโรงงานบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เองนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากพิจารณาจากสัญญาที่แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. แอสตราเซเนกา กับ สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นสัญญาจ้างผลิต 2. แอสตราเซเนกา กับ รัฐบาล เป็นสัญญาซื้อขาย และ 3. สัญญาระหว่างรัฐบาลกับ สยามไบโอไซเอนซ์ ที่จะให้การสนับสนุน หากพิจารณาดูตามไทม์ไลน์แล้วทำให้เชื่อได้ว่าแอสตราเซเนกานั้นไม่ใช่ผู้ที่ตัดสินใจเลือก สยามไบโอไซเอนซ์ ด้วยตัวเอง แต่เพราะรัฐบาลอนุมัติงบประมาณสนับสนุนให้ สยามไบโอไซเอนซ์ในเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายกับ แอสตราเซเนกา เดือนตุลาคม สิ่งนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิสูจน์
ส่วนกรณีที่ถูกฟ้องในคดีตามมาตรา 112 จากกรณีที่ออกมาพูดเรื่องวัคซีน แบ่งเป็น 2 คดี คือ 1. คดีที่ถูกรัฐบาลฟ้อง 2. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฟ้องให้ลบโพสต์ดังกล่าว ซึ่งศาลตัดสินแล้วว่า ไม่ต้องลบโพสต์แต่อยู่ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอุทธรณ์
อนุทิน โพสต์เฟซบุ๊กโต้ ใครโกหกประชาชน?
ค่ำวานนี้ (12 มี.ค.2564) อนุทิน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุเนื้อหาบางตอนว่า มีบางคนพยายามจะโยงเรื่องวัคซีนไปเรื่องการเมืองระหว่างการสนทนาใน แอปพลิเคชันคลับเฮาส์ พร้อมยืนยันไม่ได้โกหกประชาชนอย่างที่ ธนาธรกล่าวหา แต่ข้อมูลที่ ธนาธรนำมากล่าวอ้างเป็นข้อมูลเก่า ตั้งแต่ยังไม่มีการสั่งซื้อวัคซีนได้มากพอ โดยกรมควบคุมโรคอธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า จะต้องมีการปรับแผนกระจายวัคซีนไปตามสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้ไม่มีใครใช้แผนกระจายวัคซีนที่ธนาธรนำมากล่าวอ้าง
“การสนทนาในเวทีสาธารณะ ไม่ว่าจะต้องการผลทางการเมือง หรือ สร้างความนิยมส่วนตัว ก็ตาม ควรจะต้องเคารพทุกคนที่กำลังสนทนา และฟังการสนทนาด้วย และไม่ใช่จะกล่าวหาใคร ด้วยข้อมูลเก่า ข้อมูลเท็จ โดยไม่รับผิดชอบ ผมยืนยันว่า ผมไม่ได้โกหกประชาชน และไม่เคยใช้วัคซีน เป็นประเด็นการเมือง เรื่องวัคซีน มีหนึ่งคนที่เคยถูกจับได้ว่า โกหกประชาชน คือ คนที่พูดเรื่องวัคซีนพระราชทาน”